1. ด้วยพระบารมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 13 องค์กรใหญ่ของประเทศ จับมือลงนามความร่วมมือไทย-เซิร์น

 หวังร่วมวิจัยพัฒนาด้านฟิสิกส์อนุภาค และเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูง

 IMG 3854_edit

 

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยทรงสนพระทัยและได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนองค์กรเซิร์น ณ สมาพันธรัฐสวิส ถึง 4 ครั้ง ในครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 ได้มีการลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงที่จะมีความร่วมมือกัน (Expression of Interest : EOI) ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และเซิร์น โดยพระองค์ท่านทรงมีพระกรุณาธิคุณเสด็จประทับเป็นองค์ประธานสักขีพยาน ในการลงนามครั้งนั้นด้วย จุดประสงค์ของการลงนามเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการส่งนักศึกษาและครูไทยไปร่วมโครงการภาคฤดูร้อน รวมทั้งสนับสนุนให้นักฟิสิกส์จากประเทศไทยเข้าร่วมทำงานวิจัยในโครงการของเซิร์น

          สืบเนื่องจากการลงนามในครั้งนั้น จึงได้เกิดความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยระหว่างหน่วยงานระดับชาติ 13 หน่วยงาน จับมือลงนามในบันทึกข้อตกลงตาม “โครงการความร่วมมือไทยกับเซิร์น” หวังพัฒนากำลังคนด้านฟิสิกส์ที่ขาดแคลน เปิดโอกาสให้นักศึกษา นักวิจัยไทยได้ทำงานร่วมกับนักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก รวมถึงการร่วมใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ระบบสื่อสารสนเทศเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล และการนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาใช้ได้ในวงการศึกษาและวิทยาศาสตร์ของไทย

 IMG 3846_edit

 รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ในนามผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอแสดงความยินดีในกิจกรรมครั้งนี้ ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทำให้เกิดลงนามความร่วมมือทางวิชาการโครงการความร่วมมือไทยกับเซิร์นขึ้น ระหว่างผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย หน่วยงานทางวิชาการระดับชาติและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) 3.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ) 4.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) 5.มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) 6.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ศฟ.) 7.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 8.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 9.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) 10.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) 11.สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) 12.สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)  และ 13. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ถือเป็นการร่วมมือของสถาบันทางวิชาการชั้นนำของไทยจำนวนมากที่สุดในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการที่มีความร่วมมือกับองค์กรวิจัยระดับโลกเช่น เซิร์น นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่น่าจดจำของวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ในการที่จะร่วมกันพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้านฟิสิกส์อนุภาค การที่นักศึกษา นักวิชาการของไทยได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรม และสัมผัสเทคโนโลยีขั้นสูงของเซิร์น ซึ่งมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมากที่สุดเพื่อนำมาปรับใช้ในวงการวิจัย และพัฒนาวงการศึกษาของไทยต่อไป

 

เซิร์น นั้น มีระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณที่ทันสมัยมาก มีการเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลจากเครือข่ายนี้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในงานวิจัยและพัฒนาด้านฟิสิกส์อนุภาคและงานด้านอื่น อาทิเช่น การตรวจสอบภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม นาโนเทคโนโลยี และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากสามารถประยุกต์ใช้ในระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศเรา”

IMG 3813_edit 

         ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และประธานคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยกับเซิร์น เปิดเผยว่า “การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการไทยกับเซิร์น รวมถึงการจับมือขององค์กรหลักทางวิชาการทั้ง 13 หน่วยงานในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยพระบารมีและพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างแท้จริง ด้วยพระองค์ได้ทรงสนพระทัยในความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของเซิร์น โดยได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ที่เซิร์นถึง 4 ครั้ง ในหลายวโรกาสได้ทรงมีพระราชดำริว่า หากนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับเซิร์น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพื่อสนองแนวพระราชดำริดังกล่าว จึงได้เกิดการประสานงานระหว่างทีมผู้บริหารของเซิร์นและสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) ถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือทางวิชาการในแขนงที่เกี่ยวข้อง

           ภายใต้ความร่วมมือนี้ จะนำมาซึ่งการพัฒนาบุคลากรด้านฟิสิกส์อนุภาค อันเป็นสาขาที่ขาดแคลน ตลอดจนการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษา หรือทุนวิจัย แก่นักวิจัย การพัฒนาห้องปฎิบัติการวิจัย รวมถึงการร่วมใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ห้องสมุด สื่อสารสนเทศ สาธารณูปโภค ทรัพยากรต่าง ๆ ที่แต่ละหน่วยงานมีร่วมกัน ถือเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่นักวิชาการของไทยจะได้มีโอกาสสัมผัสและเรียนรู้ถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันทันสมัยที่มีหลายหลายแขนงภายในห้องปฏิบัติการด้านต่างๆ ของ องค์กรเซิร์น และทั้ง 13 หน่วยงานจะร่วมกันดำเนินกิจกรรมภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยกับเซิร์นใน 4 โครงการ ได้แก่ ดังนี้

 

1.โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น เป็นโครงการคัดเลือกนักศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทที่ศึกษาในสาขาวิชาฟิสิกส์ เพื่อไปเข้าร่วมโครงการ CERN Summer Student Programme และคัดเลือกครูสอนฟิสิกส์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปเข้าร่วมโครงการ Physics High School Teachers Programme ณ เซิร์น ในช่วงภาคฤดูร้อน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ที่เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาความรู้ความสามารถ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนนักศึกษาและครูจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่เข้าร่วมโครงการ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้คัดเลือกนักศึกษา และครูสอนฟิสิกส์ ในขั้นตอนสุดท้าย เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โครงการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2553 ถึงปัจจุบันได้มีการคัดเลือก และส่งนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์ เข้าร่วมกิจกรรมภาคฤดูร้อนเซิร์น เป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งจะเดินทางไปทำกิจกรรม ณ เซิร์น สมาพันธรัฐสวิส เดือน กรกฎาคม 2555 ที่จะถึงนี้ โดยมีรายนามผู้ผ่านการคัดเลือก ดังนี้

IMG 3871_edit

 

โครงการ CERN Summer Student Programm  

1. นายนวเดโช หาญขุนทด ปริญญาตรีปีที่ 4 สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

2. นายรัฐกร แก้วอ่วม ปริญญาตรีปีที่ 4 สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โครงการ Physics High School Teacher Programm

1.นายสุรศักดิ์ ศรีสุวงศ์ โรงเรียนน้ำโสมวิทยาคม จังหวัดอุดรธานี

2.นาวสาวชุลีณี พาหุรัตน์ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร  

 

2.โครงการ National e-Science Infrastructure Consortium เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณ โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์กริ(Grid Computing) ของเซิร์น ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของเซิร์น ซึ่งสามารถนำไปใช้ในงานวิจัยและพัฒนาด้านฟิสิกส์อนุภาคและด้านอื่นๆ อาทิเช่น การตรวจสอบภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม นาโนเทคโนโลยี และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โครงการนี้ได้ดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย (1) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (2) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (4) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ (5) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา

 

            3.โครงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเซิร์น เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาค ผ่านการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเซิร์น เช่น 1.โครงการ CERN School Thailand เป็นโครงการจัดการประชุมที่ดำเนินการจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิต นักศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา คณาจารย์ และนักวิจัย เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาค และเครื่องตรวจวัดอนุภาค รวมถึงรวบรวมนักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาคในประเทศไทยเพื่อรวมตัวกันเป็น particle physics consortium ซึ่งในครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4-13 ตุลาคม 2553 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นระหว่าง 23 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2555 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 2.โครงการ Thailand Experimental Particle Physics Novice Workshop 2012 เป็นโครงการจัดประชุมเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาค และการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยจะจัดขึ้นครั้งแรกในช่วงเดือนเมษายน 2555 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพ 3.โครงการอบรมครูฟิสิกส์ไทย เป็นโครงการอบรมที่จัดขึ้นเพื่อสานต่อโครงการครูสอนฟิสิกส์ ภาคฤดูร้อนเซิร์น มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้ครูฟิสิกส์ระดับมัธยม ได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาค โครงการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าภาพ และจะได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี

และ 4.โครงการส่งเสริมนักศึกษาปริญญาโท-เอก นักวิจัยไปทำงานวิจัย ณ เซิร์น และพัฒนาให้เกิดการทำวิจัยร่วมกับเซิร์น เป็นโครงการร่วมมือวิจัยโดยการส่งนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก หรือนักวิจัยเข้าร่วมทำงานวิจัย ฝึกฝน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิจัยในกลุ่มการทดลอง CMS เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทยไปสู่ระดับนานาชาติ และถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ได้กลับมาสู่ประเทศไทย ปัจจุบันได้ส่งนักวิจัยจำนวน 2 คน คือ ดร.นรพัทธ์ ศรีมโนภาษ และ Dr. Emmanuele Simili จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปทำงานวิจัย ณ เซิร์น และยังมีนายทุตานนท์ สินธุประสิทธิ์ นักศึกษาปริญญาเอกที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) ประเทศสหรัฐอเมริกา และกำลังทำงานวิจัยอยู่ที่เซิร์น ซึ่งเป็นการพัฒนาความร่วมมือในการวิจัยกับเซิร์น และนางสาวชญานิษฐ์ อัศวตั้งตระกูลดี นักศึกษาทุนพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกทางฟิสิกส์อนุภาคที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และจะเดินทางไปทำงานวิจัยที่เซิร์นในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2555 นี้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับความช่วยเหลือจาก Professor Dr. Emmanuel Tsesmelis ผู้อำนวยการสำนักงานผู้อำนวยการเซิร์น และ Professor Dr. Albert De Roeck รองโฆษกกลุ่มการทดลองสถานีตรวจวัดอนาคซีเอ็มเอส (CMS) ของเซิร์นในการช่วยเหลือและสนับสนุนให้นักศึกษาคือ จำนวน 2 คน คือ นายจตุพร พันตรี และนายฐาปกรณ์ ภู่ลำพงษ์ ผู้ได้รับทุนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ตามความต้องการของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เข้าศึกษาทางด้าน Particle Physics ณ มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ประเทศสหราชอาณาจักร”

 

ข้อมูลเกี่ยวกับเซิร์น

เซิร์น (The European Organization for Nuclear Research (CERN)) หรือ องค์กรเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป ตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นสถาบันวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักและเผยแพร่ความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาค และเป็นแหล่งรวมนักวิจัย วิศวกร และนักฟิสิกส์ชั้นนำของโลกในการออกแบบ จัดสร้างเครื่องเร่งอนุภาค เครื่องตรวจวัดอนุภาค และวิจัยทั้งทางทฤษฎีและการทดลองด้านฟิสิกส์อนุภาค รวมถึงการวิจัยที่เป็น Frontier เมื่อปลายปี พ.ศ. 2552 เซิร์นได้สร้างปรากฎการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในการเดินเครื่องเร่งอนุภาคแบบวงกลมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่เรียกว่า เครื่องเร่งอนุภาค LHC (Large Hadron Collider) ที่มีพลังงานสูงที่สุดในปัจจุบัน เพื่อศึกษาถึงผลของการชนกันของลำอนุภาคโปรตอน ซึ่งเป็นการจำลองเหตุการณ์บิ๊กแบง (Big Bang) ที่เป็นจุดกำเนิดของจักรวาล โดยคาดว่าจะทำให้ค้นพบอนุภาคที่เป็นที่มาของอนุภาคมูลฐานของสสารได้ อันนำไปสู่การไขความลับเกี่ยวกับการกำเนิดจักรวาล

ปัจจุบันงานวิจัยหลักของเซิร์นเกี่ยวข้องกับฟิสิกส์อนุภาคมากกว่าฟิสิกส์นิวเคลียร์ และมีประเทศสมาชิกรวม 21 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบยุโรป ได้แก่ 1) เบลเยี่ยม 2) เดนมาร์ก 3) เยอรมนี 4) ฝรั่งเศส 5) กรีซ 6) อิตาลี 7) นอร์เวย์ 8) สวีเดน 9) สวิตเซอร์แลนด์ 10) เนเธอร์แลนด์ 11) สหราชอาณาจักร 12) ยูโกสลาเวีย 13) สเปน 14) โปรตุเกส 15) ฟินแลนด์ 16) โปแลนด์ 17) ฮังการี 18) สาธารณรัฐเช็ก 19) สโกวาเนีย 20) บัลแกเรีย 21) มาซิโดเนีย และ 6 ประเทศในฐานะผู้สังเกตการณ์ ได้แก่ 1) อินเดีย 2) อิสราเอล 3) ญี่ปุ่น 4) รัสเซีย 5) ตุรกี 6) สหรัฐอเมริกา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีหลายประเทศที่ให้ความสนใจในการทำงานวิจัยร่วมกับเซิร์น โดยประเทศที่ได้ลงนามความร่วมมือกับเซิร์นในการวิจัยกับเซิร์นแล้วได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศสิงคโปร์นั้น อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมงานกับเซิร์น