รู้หรือไม่ว่า...ระบบการจัดการข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต หรือที่เราเรียกว่า World Wide Web (www) ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนต่างคุ้นเคยกันดีและใช้อยู่นั้นในทุกๆ วัน ได้ถือกำเนิดจากสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของโลก ที่มีชื่อว่า องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า เซิร์น (CERN)
หลายๆ คนอาจสงสัยว่าทำไม www ถึงได้ถูกคิดค้นขึ้นจากห้องปฏิบัติการการทดลองที่สำคัญทางฟิสิกส์ แทนที่จะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หรือบริษัทที่มีชื่อเสียงต่างๆ
เซิร์นเป็นที่ตั้งของห้องทดลองทางฟิสิกส์อนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างพรมแดนประเทศฝรั่งเศสและสมาพันธรัฐสวิส อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการทดลองเพื่อศึกษาเกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาคที่สำคัญ ก็คือ เครื่องเร่งอนุภาค
เซิร์นได้ก่อสร้างเครือข่ายของเครื่องเร่งอนุภาคที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในโลก และเร่งอนุภาคโปรตอนหรืออนุภาคตะกั่วให้มีความเร็วเข้าใกล้แสงมากที่สุด ถัดนั้นจึงนำอนุภาคที่มีพลังงานสูงเหล่านี้มาชนกัน เพื่อศึกษาอนุภาคต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามการทำนายด้วยทฤษฎีทางฟิสิกส์อนุภาค
เนื่องจากอนุภาคที่เกิดขึ้นหลังจากการชนกันของโปรตอนหรือตะกั่วมีจำนวนมากและหลากหลาย ดังนั้นการจัดเก็บดูแลและใช้งานข้อมูลของอนุภาคจำนวนมหาศาลที่ได้จากการชนกันจึงมีความท้าทาย ซับซ้อน และสำคัญอย่างมาก
เพื่อให้การแบ่งปันข้อมูลระหว่างนักวิจัยมีประสิทธิภาพ ทิมเบอร์เนอส-ลี (Tim Bernes-Lee) ได้ริเริ่มโครงการ ENQUIRE ในปี พ.ศ. 2523 ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโปรแกรมที่มีลักษณะการใช้งานข้อความหลายมิติ (Hypertext) ต่อมา ในปี พ.ศ. 2533 ทิมเบอร์เนิส-ลีได้ร่วมมือกับ โรเบิร์ต เคเลียว (Robert Cailliau) ในการพัฒนาระบบจัดการข้อมูลให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น โดยโครงการนี้มีชื่อว่า “WorldWideWeb” หรือ “W3” หรือเรียกสั้น ๆ ว่าเว็บ (Web) ซึ่งเป็นเครือข่ายข้อมูลที่เชื่อมต่อถึงกันผ่านข้อความหลายมิติ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกแสดงด้วยโปรแกรมซึ่งเรียกว่า เบราเซอร์ (Browser) เบราเซอร์ที่ใช้งานในปัจจุบัน เช่น กูเกิลโครม (Google Chrome) ซาฟารี (Safari) ไฟร์ฟอกซ์ (Firefox) เป็นต้น
การใช้งานเว็บไซต์อย่างเป็นทางการเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2534 และในปี พ.ศ. 2536 เซิร์นได้ประกาศให้ทุกคนสามารถใช้งานระบบ www ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ หลังจากนั้น ระบบเครือข่ายข้อมูลได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และการใช้งานทั่วไปได้เริ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2536 -2537
แม้ว่าการพัฒนา www จะมิได้เป็นภารกิจหลักของเซิร์น แต่ด้วยอุปสรรคและความท้าทายในการจัดเก็บและแบ่งปันข้อมูลที่มากมายจากการทดลอง ทำให้นักวิจัยและพัฒนาเหล่านี้ได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ขึ้นมา และสามารถนำมาให้ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนได้
ในส่วนของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้มีความร่วมมือกับเซิร์นเพื่อพัฒนาระบบตรวจจับอนุภาคภายใน โดยหนึ่งในชิ้นส่วนที่สำคัญของระบบตรวจจับอนุภาคภายในนี้คือ เซ็นเซอร์ ซึ่งจะผลิตสัญญาณไฟฟ้าเมื่อมีอนุภาคพลังงานสูงเคลื่อนที่ผ่าน เซ็นเซอร์นี้นอกจากจะใช้ในการตรวจจับอนุภาคสำหรับการทดลองทางฟิสิกส์แล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการถ่ายภาพรังสีส่วนตัดทางการแพทย์ได้อีกด้วย
บทความโดย
ดร.กฤษดา กิตติมานะพันธ์ นักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาค