โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบอุปกรณ์และวัสดุดาวเทียมวิจัยอวกาศในสภาวะสุดโต่ง ดำเนินการภายใต้ โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium : TSC) ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีระดับความพร้อมทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีในระดับสูงจำนวน 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน ) (สซ.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ (องค์การมหาชน) (สดร.) ร่วมด้วยมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างและพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านของหน่วยงานงานภายในประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (next new S-curve) ของประเทศ พร้อมกับสร้าง eco-system ที่เหมาะสมและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งสิ้น 6 ปี (พ.ศ.2562-2567) ผ่านกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. Satellite Systems 2. Scientific & Payload Development 3. Automation and Infrastructures Development ซึ่งสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนรับหน้าที่ในกิจกรรม Automation and Infrastructures Development เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบทดสอบและสร้างอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการพัฒนาดาวเทียมที่จะจัดสร้างขึ้น

 

1

 

          ห้องปฏิบัติการทดสอบอุปกรณ์และวัสดุดาวเทียมวิจัยอวกาศในสภาวะสุดโต่ง พัฒนาขึ้นโดยใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากการบ่มเพาะประสบการณ์ทางด้านเทคนิคและวิศวกรรมขั้นสูงมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยสามารถรองรับการทดสอบดาวเทียมขนาดน้ำหนักไม่เกิน 150 กิโลกรัม ขนาดมิติไม่เกิน 3 ลูกบาศก์เมตร และรองรับการทดสอบคุณสมบัติและความคงทนของวัสดุ เครื่องมือ และอุปกรณ์ ที่สร้างขึ้นสำหรับใช้งานทางด้านอวกาศ เทคโนโลยีป้องกันประเทศและอากาศยาน ที่สภาวะการทำงานต่าง ๆ เช่น ภายใต้ความดันสุญญากาศ อุณหภูมิร้อนหรือเย็นที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องหรือฉับพลัน ภายใต้การสั่นสะเทือนและสัญญาณรบกวนในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจและป้องกันความผิดพลาดอันจะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างมหาศาลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ต่าง ๆ เกิดปัญหาก่อนนำไปติดตั้งเพื่อใช้งานจริงได้อย่างทันท่วงที

 

2

 

          นอกจากการสร้างระบบทดสอบเพื่อพัฒนาดาวเทียมในโครงการดังกล่าว สถาบันฯ ยังมีเป้าหมายในการเปิดให้บริการกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่สนใจ รวมทั้งมีแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมให้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นการสนับสนุนองค์ความรู้จากเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทางด้านเทคนิคและวิศวกรรมขั้นสูงนี้ ให้เกิดการต่อยอดในการสร้างและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต โดยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยและนวัตกรรมขั้นแนวหน้าที่ต้องใช้ห้องปฏิบัติการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ระดับสูงเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่สำคัญ ให้ประเทศไทยสามารถสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการเพื่อนำมาพัฒนาประเทศได้อย่างอย่างยั่งยืน