ความเป็นมา
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อว.ในฐานะ หน่วยงานสนับสนุนที่สำคัญ ได้มี นโยบายให้สถาบันสนับสนุน นวัตกรรมที่ใช้งานได้ให้มี สายการผลิตที่ชัดเจน ทำได้จริง อย่างรวดเร็ว นำไปดำเนินการ ขยายให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมแก้ไขปัญหา บรรเทาวิกฤติการร่วมกับทุกภาคส่วน
ด้วยประสบการณ์ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่สถาบันฯ มีความสามารถและศักยภาพในการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีวิศวกรรมด้านต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยีสุญญากาศ เทคโนโลยีแหล่งจ่ายกำลัง เทคโนโลยีระบบควบคุม เพื่อสนับสนุน การดำเนินงานตามพันธกิจภายในองค์กร ส่งเสริมการทำงานวิจัย และพัฒนาร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สู่การยกระดับเทคโนโลยีวิศวกรรมในด้านต่าง ๆ ของประเทศ ทดแทนการนำเข้า และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ในระยะแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้พัฒนาและสร้างห้อง ความดันลบ (Negative pressure room) ใช้ครอบเตียงผู้ป่วยแบบชนิดเตียงเดียว, ห้องความดันบวก (Positive pressure room) ใช้เป็นห้องตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ (Swab test unit) และ ชุดขนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ (Patient Capsule) การดำเนินการสร้างอุปกรณ์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค เพิ่มความปลอดภัยให้แก่ทีมแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ได้ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลใน จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้แก่ โรงพยาบาล เทพรัตน์ นครราชสีมา โรงพยาบาลปักธงชัย และโรงพยาบาลขามทะเลสอ
รูปที่ 1 ห้องแยกโรคความดันลบโรงพยาบาลเทพรัตน์ จังหวัดนครราชสีมา
รูปที่ 2 ตู้ตรวจคัดกรองความดันบวก มอบโรงพยาบาลปักธงชัย จ.นครราชสีมา
รูปที่ 3 แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ ความดันลบ มอบโรงพยาบาลขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา
จากองค์ความรู้ที่ได้รับการพัฒนาตู้ความดับลบในครั้งแรก นำไปสู่การออกแบบและสร้างต้นแบบห้องแยกโรคความดันลบสำหรับโรงพยาบาลสนามในครั้งนี้ ได้คำนึงถึง 4 ปัจจัยหลัก คือ (1) ความปลอดภัย สะอาด (2) ได้มาตรฐาน ใช้งานได้จริง (3) ราคาไม่แพง และ (4) ง่ายต่อการประกอบ ติดตั้ง เคลื่อนย้าย และการดูแลรักษา สามารถถ่ายทอดให้ช่างฝีมือท้องถิ่นทำการผลิตต่อเพื่อขยายผลได้
คุณลักษณะ
ห้องแยกโรคความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนามที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ มีส่วนประกอบหลัก 5 ส่วน แสดงดังรูปที่ 4
รูปที่ 4 ส่วนประกอบหลักของห้องแยกโรคความดันลบ
ต้นแบบห้องแยกโรคความดันลบสำหรับโรงพยาบาลสนาม (Negative Pressure Isolation Room for Field Hospital) เป็นห้องขนาด ยาว 3 เมตร x กว้าง 2.2 เมตร x สูง 2.2 เมตร โดยแบ่งห้องออกแบบ 2 ห้องย่อยคือ
ห้องที่ 1 ห้องความดันลบ ขนาด กว้าง 2 เมตร x ยาว 2.2 เมตร x สูง 2.2 เมตร เพื่อให้สามารถวางเตียงผู้ป่วยขนาด กว้าง 1 เมตร x ยาว 2 x สูง 0.8 - 1.5 เมตร โดยใช้พัดลมดูดอากาศปริมาตรสูงสุด 860 ลบ.ม./ชม. ผ่าน fillter ให้มีความดันลบต่ำกว่า 2.5 Pa (พาสคาล) และมีชุดอ่านความดันภายในห้องผู้ป่วย เพื่อแสดงผล อากาศที่ปนเปื้อนจะไม่สามารถแพร่กระจายมายังบริเวณภายนอกที่มีบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้ เนื่องจากมีการกรองอากาศผ่านชุด Pre-filter และ HEPA filter ที่มีแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง 99.99 % ที่สามารถกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมโครเมตร ได้
ห้องที่ 2 ห้องเข้า-ออก (Ante-room) ขนาด 1 เมตร x กว้าง 2.2 เมตร x สูง 2.2 เมตร ซึ่งเป็นห้องความดันบวก โดยใช้พัดลมเติมอากาศ ปริมาตรสูงสุด 335 ลบ.ม./ชม. ผ่านกรอง Medium filter ทำให้อากาศในห้อง Ante-room ไหลผ่านไปยังห้องความดันลบ และช่วยให้ห้องผู้ป่วยมีอากาศสะอาดเติมเข้าไปมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรคในขณะบุคลากรผ่าน เข้า-ออก ได้
รูปที่ 5 ต้นแบบห้องแยกโรคความดันลบ สำหรับโรงพยาบาลสนาม
การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพึ่งพาตนเอง
ห้องแยกโรคความดันลบที่พัฒนาขึ้นนี้ นับเป็นการนำเอาองค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่สั่งสมมาของบุคลากรในแขนงต่างๆ ของสถาบัน มาร่วมกันออกแบบและสร้างต้นแบบห้องแยกโรคความดันลบสำหรับโรงพยาบาลสนาม ทั้งนี้สถาบันฯ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชน โรงพยาบาล และหน่วยงานที่สนใจ สามารถผลิตได้โดยช่างฝีมือในท้องถิ่น ช่วยการกระจายรายได้ สร้างทุนปัญญาให้กับชุมชน ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้โรงพยาบาลและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีต้นทุนในการผลิต 100,000 บาท ต่อหลัง ทั้งนี้ แบบทางวิศวกรรมและรายละเอียดสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://bit.ly/2RfSqpT โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม(คลิกที่นี่)
รูปที่ 6 การดำเนินการจัดสร้างและประกอบต้นแบบ ห้องแยกโรคความดันลบ
รูปที่ 7 การทดสอบการใช้งานโดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลเทพรัตน์