ความเสถียรเชิงตำแหน่ง (beam position stability)   ของลำอิเล็กตรอน ในวงกักเก็บอิเล็กตรอนนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่องานวิจัยที่ใช้แสงซินโครตรอนตำแหน่งของลำอิเล็กตรอนที่เสถียรจะส่งผลให้แสงซินโครตรอนที่ผลิต ได้มีความเสถียรเชิงตำแหน่งด้วย ซึ่งความเสถียรเชิงตำแหน่งของแสงซินโครตรอนนั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบลำเลียงแสงที่มีการโฟกัสลำอิเล็กตรอนให้มีขนาดเล็กลง (Focused beam) หรือระบบลำเลียงแสงที่ใช้เทคนิคการแทรกสอดกันของแสง (Interference) เช่น เทคนิคการทดลอง FTIR (Fourier transform infrared spectroscopy) 
                ในการศึกษาเพื่อปรับปรุงความเสถียรเชิงตำแหน่งของลำอิเล็กตรอนนั้น ส่วนประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งได้แก่ระบบเซนเซอร์ และระบบการเก็บข้อมูล (Data logging system) เพื่อที่จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์  เนื่องจากสาเหตุที่ส่งผลต่อความเสถียรเชิงตำแหน่งของลำอิเล็กตรอนนั้นมีหลายประการ อาทิ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ (Temperature fluctuation) การสั่นเชิงกล (Mechanical vibration) ความเสถียรของแหล่งจ่ายกำลัง (Stability of power supplies) และอื่นๆ การวัดและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับปรุงคุณภาพของลำอิเล็กตรอน
                ในเดือนตุลาคม2553 ที่ผ่านมา ทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนได้ทำการติดตั้งเซนเซอร์ชนิดต่างๆ เพิ่มเติมในวงกักเก็บอิเล็กตรอนเพื่อการนี้ ได้แก่ เซนเซอร์อุณหภูมิอากาศจำนวน 20 ตัว เซนเซอร์อุณหภูมิแม่เหล็กจำนวน 15 ตัว เซนเซอร์อุณหภูมิตัวตรวจวัดตำแหน่งลำอิเล็กตรอนจำนวน 5 ตัว เซนเซอร์อุณหภูมิระบบอิเล็กทรอนิกส์ของตัวตรวจวัดตำแหน่งลำอิเล็กตรอนจำนวน 2 ตัว เซนเซอร์อุณหภูมิ RF cavity จำนวน 5 ตัว เซนเซอร์อุณหภูมิน้ำหล่อเย็นสำหรับ RF cavity  จำนวน 2 ตัว เซนเซอร์ความชื้น 9 ชุด ระบบวัดคุณภาพแรงดันไฟฟ้า 1 ระบบ นอกจากนั้น ในขณะนี้ทางสถาบันฯ อยู่ในระหว่างการเตรียมการติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณภูมิน้ำหล่อเย็นจำนวน 40 ตัว และ Mechanical dial gauges จำนวน 10 ตัวสำหรับวัดตำแหน่งของส่วนประกอบต่างๆ ของวงกักเก็บฯ โดยละเอียดเพิ่มเติมอีกด้วย

alt                        
รูปที่ 1 ตำแหน่งของวงกักเก็บอิเล็กตรอนที่มีการติดตั้งเซนเซอร์

alt

รูปที่ 2 ตัวอย่างเซนเซอร์ชนิดต่างๆ ที่ถูกติดตั้งแล้ว

alt
รูปที่ 3 ตัวอย่างข้อมูลที่ได้จากการวัด

 

                 นอกจากในส่วนของระบบเซนเซอร์ที่ถูกต้องและแม่นยำแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือระบบการเก็บข้อมูลที่ดีและสามารถดึงข้อมูลของทุกระบบมาได้ (Centralized system) เพื่อให้สามารถศึกษาถึงความเชื่อมโยงกัน (Correlation) ของข้อมูลแต่ละอย่างได้ ซึ่งระบบเช่นนี้ต้องประกอบไปทั้งอุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูล (Acquisition hardware) ระบบคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์และระบบฐานข้อมูล รวมถึงโปรแกรมสำหรับดึงข้อมูลที่ต้องการ (Query engine) โดยทางสถาบันได้ทำการปรับปรุงระบบจากระบบเดิมเป็นระบบใหม่แสดงได้ดังแผนภาพในรูปที่ 4

alt

รูปที่ 4 ระบบ Data logging system ใหม่ของเครื่องกำเนิดแสงสยาม

alt

รูปที่ 5 ชุด Acquisition hardware สำหรับเซนเซอร์ชนิดต่างๆ (ซ้าย) และสำหรับค่ากระแสของแหล่งจ่ายกำลังแม่เหล็ก (ขวา)

alt

รูปที่ 6 ระบบ Real-time monitoring และระบบ Data query ในห้องควบคุมเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน