ซินโครตรอน รุกอุตสาหกรรมแร่และอัญมณี จัดประชุมสร้างเครือข่าย หวังยกระดับงานวิจัยไทย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมจัดใหญ่ประชุมกลุ่มงานวิจัยเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านการวิเคราะห์แร่และอัญมณีด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน (A Symposium on Synchrotron Technology for Gemology and Mineralogy Applications: SLRI - GeM Symposium 2015) ระหว่างวันที่ 6 - 8 พฤศจิกายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หวังสร้างเครือข่ายงานวิจัยด้านอัญมณีด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนขั้นสูง อันจะนำไปสู่การพัฒนาสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ให้มีคุณภาพในระดับสากล ขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้และมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยอันดับที่ 4 มีสัดส่วนเฉลี่ยต่อ GDP อยู่ราวร้อยละ 3.45 และมีจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมกว่า 1.3 ล้านคน การปรับปรุงและพัฒนากลไกของรัฐเพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการวิจัยเกี่ยวกับแร่และอัญมณีจะสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกด้วยคุณภาพ สามารถรักษาสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน มีการปรับตัวและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถเตรียมพร้อมต่อการเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและการค้าอัญมณีของประชาคมอาเซียน อีกทั้งยังสามารถพัฒนาและส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าได้ด้วย
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จึงได้จัดให้มี การประชุมกลุ่มงานวิจัยเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านการวิเคราะห์แร่และอัญมณีด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน (A Symposium on Synchrotron Technology for Gemology and Mineralogy Applications: SLRI - GeM Symposium 2015) ร่วมกับการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 41 (วทท. 41) ในระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายงานวิจัยในด้านอัญมณีด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับและพัฒนางานวิจัยทางด้านแร่และอัญมณีโดยการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน อันจะนำมาซึ่งองค์ความรู้ ความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนผลงานการวิจัยที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สร้างรายได้และมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยได้ในอนาคต”
ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ประธานกรรมการจัดการประชุมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ชนิดของอะตอมที่มีปริมาณอยู่น้อยและโครงสร้างของสารประกอบได้อย่างละเอียด ทำให้ทราบถึงองค์ประกอบของธาตุและโครงสร้างสารประกอบต่างๆ ที่ส่งผลต่อสีของแร่และอัญมณี รวมถึงการนำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ สำหรับการศึกษากระบวนการที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับสำหรับการพัฒนาคุณภาพของอัญมณีแต่ละชนิดอีกด้วย
สถาบันฯ เล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยทางด้านอัญมณี โดยได้เริ่มสนับสนุนทำการค้นคว้าและวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีไทยจากโครงการพัฒนาคุณภาพไข่มุก ซึ่งประสบความสำเร็จในการระบุธาตุที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในกลไกการเปลี่ยนสีของไข่มุก ได้นำมาสู่นวัตกรรมการวิจัยเพื่อผลิตไข่มุกสีทองด้วยแสงซินโครตรอน รวมถึงการสร้างลวดลายบนไข่มุกด้วยแสงซินโครตรอน จนกระทั่งสามารถจดสิทธิบัตรได้ 2 ฉบับ จากผลการค้นพบดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการอัญมณี สามารถสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ไปในวงกว้าง นอกจากงานวิจัยด้านไข่มุกโดยการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนแล้ว ทีมวิจัยได้ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อหวังให้เกิดกลุ่มงานวิจัยที่มุ่งเป้าในการพัฒนาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ ในการศึกษาตรวจวัด วิเคราะห์ตรวจสอบ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการด้านอัญมณี ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของอัญมณีที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยต่อไป ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานประชุม SLRI-GeM Symposium 2015 ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 15 กันยายน 2558 ที่ http://beamapp.slri.or.th/ และสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.slri.or.th/gem2015 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-4421-7040 ต่อ 1603 ”
ผู้ประสานงาน น.ส.ศศิพันธุ์ ไตรทาน, น.ส.กุลธิดา พิทยาภรณ์
เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1252,1601 โทรสาร 0-4421-7047
อีเมลล์: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it., This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it., This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.