3

 

          ในระหว่างวันที่ 13-16 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงและวิศวกร ของระบบลำเลียงแสงอาเซียน (BL5.1WB: ASEAN Beamline) ประกอบด้วย ดร.สมชาย ตันชรากรณ์, ดร.นิชาดา เจียรนัยกูร, นายนพวัชร์ ธรรมสนอง และนายพีรพัฒน์ ถิ่นหนองแวง ได้เดินทางไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการสร้างสถานีทดลองสำหรับ Micro focused beam ณ National Synchrotron Radiation Research Center (NSRRC) ไต้หวัน โดยมี Dr. Mau-Tsu Tang, Facility Application Group’s leader ของ NSRRC ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบกาณ์ โดยคณะฯ ได้ร่วมอภิปรายเพื่อปรึกษากับทีมนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงของ NSRRC ในการออกแบบขั้นต้น (Conceptual design) สำหรับการสร้างสถานีทดลอง Micro focused beam ณ ระบบลำเลียงแสงอาเซียน (BL5.1 WB) ซึ่งเป็นสถานีทดลองที่นำเอาแสงที่มีพลังงานย่านรังสีเอกซ์ (4-25 KeV) ที่ผลิตจากอุปกรณ์แทรกชนิดแม่เหล็กตัวนำยิ่งยวดแบบหลายขั้ว (Superconducting Multipole Wiggler)  โดยอุปกรณ์แทรกดังกล่าวก็เป็นผลงานที่ได้จากความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ กับ NSRRC ในปี พ.ศ. 2560 ปัจจุบันระบบลำเลียงแสงอาเซียนอยู่ในระหว่างการทดสอบระบบลำเลียงและสถานีทดลอง ซึ่งสถานีทดลองที่ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยในขณะนี้ เป็นสถานีทดลองที่ให้บริการในเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy) และเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (X-ray Fluorescence Spectroscopy) โดยงานวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคนิคดังกล่าวมีหลากหลายสาขา ได้แก่วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม งานวิจัยด้านโบราณคดี งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และงานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ เป็นต้น

           และเนื่องจากสถานีทดลองในปัจจุบันที่ติดตั้งอยู่ ณ ระบบลำเลียงแสงอาเซียน เป็นสถานีทดลองที่ใช้ลำแสงเอ็กซ์ที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 1 มิลลิเมตร x 1 มิลลิเมตร (กว้างxยาว) การสร้างสถานีทดลองสำหรับ Micro focused beam เป็นการลดขนาดลำแสงที่ตกลงบนตัวอย่างให้อยู่ในระดับไมโครเมตร จากการใช้อุปกรณ์โฟกัสรังสีเอ็กซ์ (X-ray mirror lens) จนมีขนาดประมาณ 10 ไมโครเมตร ซึ่งลำแสงที่เล็กในระดับไมโครเมตรนี้จะมีประโยชน์อย่างมากในการศึกษาการกระจายตัวของธาตุองค์ประกอบ หรือ รูปฟอร์มทางเคมีขององธาตุที่สนใจในบริเวณเล็กๆ บนตัวอย่างที่มีลักษณะไม่เป็นเนื้อเดียวกัน โดยหลังจากที่พัฒนาสถานีทดลองสำหรับให้บริการลำแสงขนาดเล็กแล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2564 โดยผู้ใช้บริการของระบบลำเลียงแสงอาเซียนจะสามารถเลือกรูปแบบการวัดตัวอย่างได้ทั้งสองรูปแบบคือ แบบใช้ลำแสงขนาดเล็ก หรือ แบบใช้ลำแสงขนาดปกติ

          ทั้งนี้เมื่อการสร้างและทดสอบการทำงานของสถานีทดลองระบบใหม่แล้วเสร็จ ระบบลำเลียงแสงอาเซียนจะมุ่งเน้นการให้บริการแสงซินโครตรอนกับนักวิจัยทั้งภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรม จากกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันโดยอาศัยวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

1

แบบร่าง (Schematic drawing) แสดงสถานีทดลองสำหรับให้บริการลำแสงขนาดเล็กระดับไมโครเมตร ณ ระบบลำเลียงแสงอาเซียน

 

4 7

 5 6

 2