001 20160926 133938

         สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้รับรางวัล Thailand IPv6 Ready Award ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมในการให้บริการรองรับ IPv6 จาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ในงาน IPv6 ประจำปี 2559 โดยมี นางสาวอธิการ ทองวัฒน์ หัวหน้าส่วนงานเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้แทนของสถาบันฯ รับมอบรางวัล เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

มาดูว่า IPv6 คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร?

         กลไกสำคัญในการทำงานของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต คือ Internet Protocol (IP) ซึ่งใช้หมายเลขอินเทอร์เน็ต หรือ ไอพีแอดเดรส (IP Address) ในการอ้างอิงเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เครือข่ายต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตทั่วโลก เปรียบเสมือนการใช้งานโทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารกัน จะต้องมีเลขหมายเบอร์โทรศัพท์เพื่อให้อ้างอิงผู้รับสายได้ คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในอินเทอร์เน็ตก็ต้องมีหมายเลข IP Address ที่ไม่ซ้ำกับใคร

         มาตรฐานไอพีแอดเดรสที่ใช้กันทุกวันนี้ คือ Internet Protocol version 4 (IPv4) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการส่งข้อมูลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๑ ทั้งนี้การขยายตัวของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว และจำนวนหมายเลขไอพีแอดเดรส ของ IPv4 กำลังจะถูกใช้หมดไป ไม่เพียงพอกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคต ซึ่งหากเกิดขึ้นก็หมายความว่าเราจะไม่สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นได้อีก ดังนั้น คณะทำงาน IETF (The Internet Engineering Task Force) จึงได้พัฒนา Internet Protocol รุ่นใหม่ขึ้น คือ Internet Protocol version 6 (IPv6) เพื่อทดแทน Internet Protocol รุ่นเดิม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของตัวโพรโทคอล ให้รองรับไอพีแอดเดรสจำนวนมาก และปรับปรุงคุณลักษณะอื่น ๆ อีกหลายประการ ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัยรองรับระบบแอพพลิเคชั่น ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลแพ็กเก็ตให้ดีขึ้น ทำให้สามารถตอบสนองต่อการขยายตัวและความต้องการใช้งานเทคโนโลยีบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในอนาคตได้เป็นอย่างดี

         ประโยชน์หลักของ IPv6 และเป็นเหตุผลสำคัญของการเริ่มใช้ IPv6 ได้แก่ จำนวนไอพีแอดเดรสที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนไอพีแอดเดรสเดิม IPv4 แอดเดรส มี 32 บิต รองรับไอพีแอดเดรสได้ประมาณสี่พันล้านหมายเลข ในขณะที่ IPv6 แอดเดรส มี 128 บิต รองรับไอพีแอดเดรสได้ถึงสามร้อยสี่สิบล้านล้านล้านล้านล้านล้านหมายเลข

         ความสำคัญของการมีไอพีแอดเดรสที่ไม่ซ้ำกันและสามารถเห็นกันได้ทั่วโลก จะช่วยผลักดันการพัฒนา แอปพลิเคชั่นที่ต้องการไอพีแอดเดรสจริงเป็นจำนวนมาก เช่นการทำ File Sharing, Video Conference, และ Online Gaming แอปพลิเคชั่นเหล่านี้มีข้อจำกัดภายใต้ IPv4 เนื่องจากผู้ใช้บางส่วนไม่มีไอพีแอดเดรสจริง จึงไม่สามารถใช้แอปพลิเคชั่นเหล่านี้ได้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

         สำหรับองค์กรหรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ การมีไอพีแอดเดรสจริงอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ อย่างไรก็ตามหน่วยงานเหล่านี้ควรมีความเข้าใจถึงข้อจำกัดของการใช้ไอพีแอดเดรสปลอม อาจทำให้เกิดความยุ่งยากในอนาคตหากต้องมีการรวมเครือข่ายสองเครือข่ายที่ใช้ไอพีแอดเดรสปลอมทั้งคู่ อีกทั้ง การใช้ไอพีแอดเดรสปลอม เป็นการปิดโอกาสที่จะใช้แอปพลิเคชั่นหรือบริการที่กล่าวข้างต้น

 

 

ที่มา : https://goo.gl/BcAAmu , http://itc.drr.go.th/th/node/502