สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จัดการประชุมกลุ่มงานวิจัยเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านการวิเคราะห์แร่และอัญมณีด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน (A Symposium on Synchrotron Technology for Gemology and Mineralogy Applications: SLRI - GeM Synposium 2015) ร่วมกับการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 41 (วทท. 41) เมื่อวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ. นครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายกลุ่มงานวิจัยซึ่งเน้นการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการค้นคว้าวิจัย วิเคราะห์ตรวจสอบ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการทางด้านอัญมณี อีกทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อยกระดับและพัฒนางานวิจัยทางด้านแร่และอัญมณีโดยการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน ซึ่งจะสามารถสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนผลงานการวิจัยที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอัญมณีซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สร้างรายได้และมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยได้ในอนาคต
การประชุมดังกล่าวประกอบไปด้วย กิจกรรมการบรรยายเชิงวิชาการ โดยมี ผศ.ดร. พรสวาท วัฒนกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ, Mr. Nicholas Sturman Senior Manager, Global Pearl Services, ผู้เชี่ยวชาญจาก Gemological Institute of America, และ รศ. ดร. จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้ประสานงานชุดโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ของ สกว. ให้เกียรติมาร่วมบรรยายกับนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยกิจกรรมการนำเสนอผลงานวิจัยของผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งในรูปแบบ Oral Presentation และ Poster Presentation ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักศึกษาร่วมนำเสนอผลงานการค้นคว้าวิจัยทางด้านแร่และอัญมณีทั้งสิ้น 23 ผลงาน รวมทั้งกิจกรรมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยามรวมถึงสถานีทดลองต่างๆ และประชุมเชิงปฏิบัติการ แนะนำเทคโนโลยีขั้นสูงจากแสงซินโครตรอน X-ray Absorption Spectroscopy หรือเทคนิค XAS สำหรับการวิเคราะห์แร่และอัญมณีและโปรแกรมการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ โดย ดร. ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ นักวิจัยของสถาบันฯ ที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคนิค XAS มาวิเคราะห์ธาตุให้สีในไข่มุกและค้นพบเทคนิคการทำให้ไข่มุกเป็นสีทองเป็นครั้งแรกของโลก
ผลจากการประชุมครั้งนี้ได้มีการจัดตั้งกลุ่มวิจัยเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านการวิเคราะห์แร่ อัญมณี และเครื่องประดับด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน (A Consortium on Synchrotron Technology for Gemology and Mineralogy Applications: GeM Consortium) ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่างๆ อาทิ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน), สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รวมถึงคณาจารย์และนักวิจัยทางด้านแร่และอัญมณีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อหวังให้เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงานทางด้านการวิเคราะห์แร่และอัญมณีด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง อันนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และผลงานวิจัยที่สามารนำไปประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรม ต่อไปในอนาคต