ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เปิดเผยว่า “สถาบันฯ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการระดับอาเซียนเทคนิคการวิเคราะห์ด้วยรังสีเอกซ์ หรือ The ASEAN Workshop on X-ray Absorption Spectroscopy and X-ray fluorescence ขึ้นระหว่างวันที่ 20 –22 มิถุนายน 2554 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากนักวิจัยจากทั่วประเทศ และนักวิจัยในภูมิภาคอาเซียนและประเทศใกล้เคียง ประกอบด้วยนักวิจัยจากประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีน และอินเดีย โดยผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มีจำนวน 50 คน และในโอกาสนี้สถาบัน ฯ ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก 4 ท่าน ได้แก่ Prof. Grant Bunker จากสถาบันเทคโนโลยีอิลลินอยส์ (IIT) Dr.Matt Newville จาก Advanced Photon Source at Argonne National Laboratory (APS) ประเทศสหรัฐอเมริกา Dr.Gema Matinez - Criado จาก European Synchrotron Radiation Facility (ESRF) ประเทศฝรั่งเศส ในการให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อการวิเคราะห์ด้วยรังสีเอกซ์ให้ได้ผลการทดลองที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
เทคนิคX - rayspectroscopy absorption (XAS)ติดตั้ง ณ ระบบลำเลียงแสง BL8 เป็นระบบลำเลียงแสงที่ใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์สำหรับการศึกษาโครงสร้างระดับอะตอม เช่น การจัดเรียงตัวของอะตอม และการระบุสถานะออกซิเดชัน (oxidation state) ของอะตอม สถานีทดลอง XAS ที่ BL8 สามารถประยุกต์ใช้ในงานวิจัยได้หลากหลายสาขา เช่น การศึกษาสารเร่งปฏิกิริยา การศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผลึกเมื่อมีสารเจือ การศึกษาสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม การศึกษาธาตุองค์ประกอบในวัตถุโบราณ เป็นต้นปัจจุบัน สถานีทดลองนี้ได้รับความนิยมสูงสุดมีโครงการวิจัยที่ขอใช้บริการแสงซินโครตรอนกว่า 200 โครงการ
สำหรับเทคนิค X-ray fluorescenceหรือ การเรืองรังสีเอกซ์ ติดตั้ง ณ ระบบลำเลียงแสง BL6b เป็นเทคนิควิเคราะห์เพื่อหาธาตุที่เป็นองค์ประกอบในตัวอย่างที่สนใจ ซึ่งทางสถาบัน ฯ ได้ติดตั้งระบบ micro-XRF ซึ่งเป็นระบบที่ลำรังสีเอกซ์มีขนาดในระดับไมโครเมตร เพื่อสามารถกำหนดตำแหน่งบนตัวอย่างที่ต้องการวิเคราะห์ได้ นอกจากนั้นยังสามารถทำภาพถ่ายการกระจายตัวของธาตุต่างๆ บนตัวอย่างได้ เช่น การวิเคราะห์การสะสมของโลหะหนักในส่วนต่าง ๆ ของพืช หรือการศึกษาการกระจายตัวของธาตุต่างๆ ในตัวอย่างภาพวาดในยุคเก่า เป็นต้น
ในปีนี้สถาบันฯ จะมุ่งขยายฐานผู้ใช้บริการไปยังภูมิภาคอาเซียน ด้วยศักยภาพของห้องปฏิบัติการแสงสยามของไทย เราพร้อมที่จะเสนอขอเป็นห้องปฏิบัติการกลางด้านแสงซินโครตรอนของประชาคมอาเซียน เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา และนักวิชาการในประเทศเพื่อนบ้านได้เข้ามาร่วมใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนเพื่อเสริมสร้างพัฒนางานวิจัยของประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งต่อไปในอนาคต
เรื่อง: งานประชาสัมพันธ์
ภาพ: ส่วนงานบริการผู้ใช้