♦ เครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ 20 เซลล์
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เครื่องต้นแบบแสดงผลอักษรเบรลล์20 เซลล์เป็นงานวิจัยที่พัฒนาต่อยอดจากโครงการงานวิจัยชุดแสดงผลอักษรเบรลล์ ขนาด 3 เซลล์ ในปี 2556 เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้พิการทางสายตาและสังคม เครื่องต้นแบบแสดงผลอักษรเบรลล์ 20 เซลล์นั้น พัฒนาการทำงานด้วยหลักการเคลื่อนที่ขึ้นลงของจุดแสดงผลที่ซ่อนอยู่ภายในหน้าจอสัมผัส โดยอาศัยวัสดุเพียโซอิเล็กทริคและการควบคุมแรงดันไฟฟ้า จุดแสดงผลแต่ละจุดที่ทำงานแยกจากกัน จะเคลื่อนที่ขึ้นโดยปลายด้านบนสุดจะโผล่ขึ้นเหนือหน้าจอสัมผัสประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ทำให้ปลายนิ้วสามารถสัมผัสได้การเคลื่อนที่ของแต่ละจุดจะถูกควบคุมด้วยวงจรไฟฟ้าที่มีโปรแกรมแปลงจากอักษรปกติเป็นรหัสอักษรเบรลล์ โดยเครื่องต้นแบบที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถอ่านข้อมูลได้จากหน่วยความจำภายนอก (SD card) หรือเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่ออ่านไฟล์ข้อความ รวมทั้งการอ่านตัวอักษรจากหน้าเว็บไซด์ทั่วไปได้เครื่องแสดงผล อักษรเบรลล์ได้ผ่านการทดสอบกับผู้พิการทางสายตา พบว่าสามารถแสดงผลได้ถูกต้องถึง 97% ซึ่งนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อผลิต เชิงพาณิชย์ให้มีต้นทุนต่ำกว่าการนำ เข้าจากต่างประเทศ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตา
♦ ไข่มุกสีทอง ด้วยแสงซินโครตรอน
คณะนักวิทยาศาสตร์จาก BL8 สถาบันฯ ร่วมมือกับ อาจารย์สรพงศ์ พงศ์กระพันธุ์ นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำการค้นคว้าวิจัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีไทย เช่น การใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ศึกษาพลอยไพลิน การทำความเข้าใจองค์ประกอบที่มีผลต่อสีของโทแพซ และการหาธาตุที่เป็นองค์ประกอบในกลไกการ เปลี่ยนสีของไข่มุกดำ เป็นต้น จากการใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ศึกษาไข่มุกนั้น นำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ในการสร้างนวัตกรรมไข่มุก สีทอง สร้างขึ้นจากการฉายแสงซินโครตรอน เพื่อเปลี่ยนจากไข่มุกน้ำจืดทั้งจากธรรมชาติและไข่มุกเลี้ยง เปลี่ยนเป็นสีทองเฉพาะที่โดดเด่นได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก โดยไม่ไปบดบังหรือทำลายคุณสมบัติที่ดีอื่น ๆ ของไข่มุก เช่น น้ำหนัก ความแวววาว และกระบวนการนี้ไม่มีรังสีตกค้าง จึงมั่นใจได้ในด้านความปลอดภัย สามารถเพิ่มมูลค่าของไข่มุกน้ำจืดสีขาวที่ปกติมีมูลค่าต่ำ ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้
♦ ไฟเบอร์คุณภาพสูงจากกากมันสำปะหลัง
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ให้คำปรึกษาและวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีของไฟเบอร์ให้แก่บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เพื่อทำการพัฒนากระบวนการผลิตไฟเบอร์ ให้ไฟเบอร์ให้มีสีขาวมากขึ้น ลดปริมาณไซยาไนต์ และมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามที่ต้องการโดยใช้เทคนิค FTIR spectroscopy ให้ข้อมูลความเป็นเอกลักษณ์ของไฟเบอร์ที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันได้ โดยให้ข้อมูลของเซลลูโลสเฮมิเซลลูโลสลิกนิน และบอกถึงสัดส่วน อะไมโลสและอะไมโลเพคตินและสารประกอบทางเคมีอื่นๆ ได้ช่วยให้สามารถกำหนดกระบวนการผลิตที่เหมาะสม ผลิตภัณฑ์ที่ได้สามารถนำไปผสมกับอาหารประเภทต่างๆ และเพิ่มยอดขายให้แก่บริษัทฯ ได้มากขึ้น
♦ “เอสซีจี เคมิคอลส์” พัฒนาสารเติมแต่งจากน้ำมันหนักกระบวนการปิโตรเคมี
บริษัท เอสซีจีเคมิคอลส์ จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่ได้จากการแปรรูปน้ำมันหนักจากกระบวนการปิโตรเคมีโดยใช้เทคนิค X-ray Photoelectron Spectroscopy (XPS) และ X-ray Absorption Spectroscopy (XAS) จากแสงซินโครตรอนวิเคราะห์พื้นผิวของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (ของแข็ง) เพื่อศึกษาชนิดของธาตุ หรือโลหะต่างๆ สถานะ ออกซิเดชันของธาตุและหมู่โครงสร้างของสารประกอบที่มีอยู่ในสารประกอบไฮโดรคาร์บอนนั้นเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาเป็นสารเติมแต่งหรือแปรรูปน้ำมันหนักที่เกิดจากกระบวนการปิโตรเคมีทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สามารถเพิ่มยอดขายได้โดยจากเดิมที่สามารถจำหน่ายได้ประมาณ 8,000 ตัน/ปีใน ราคาประมาณ 450 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และผลิตภัณฑ์ที่ปรับปรุงขึ้นมาใหม่ สามารถเพิ่มราคาขึ้นเป็น 550 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 22 ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มประมาณ 0.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี หรือ 24 ล้านบาท/ปี
♦ ขนไก่ป่นอาหารสัตว์โปรตีนคุณภาพสูง
บริษัท ศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พัฒนาอาหารสัตว์จากขนไก่ป่น โดยการผลิตจากการย่อยด้วยเอ็นไซม์เคอราติเนส เพื่อให้สัตว์ดูดซึมได้ดีขึ้น ในการคัดเลือกสภาวะการผลิตที่เหมาะสมจำเป็นต้องตรวจสอบโครงสร้างที่เปลี่ยนไปของโปรตีน สถาบันฯ ได้ให้ความร่วมมือในงานวิจัยศึกษาสภาวะที่เหมาะสมดังกล่าว โดยการวิเคราะห์ด้วยแสงอินฟราเรดเพื่อให้ทราบโครงสร้างทุติยภูมิของโปรตีน ซึ่งสัมพันธ์กับคุณสมบัติในการย่อย หรือคุณภาพทางการบริโภคและเพื่อพัฒนาเป็นฐานข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบการผลิตต่อไป การศึกษานี้จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัท ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากผลิตผลพลอยได้จากโรงงานชำแหละไก่ที่เหลือทิ้งจากการแปรรูป 1,200 ตันต่อเดือน
♦ กุ้งแช่แข็งปลอดภัย จุดขาวแคลเซียมบนเปลือก
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็งรายใหญ่ของประเทศ ทางบริษัทฯ ได้พบการเกิดจุดขาวขึ้นที่บนเปลือกกุ้งภายหลังจากการเก็บผลิตภัณฑ์แช่แข็งที่อุณหภูมิ-25 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จึงการทดสอบจุดสีขาวดังกล่าว โดยใช้กล้องจุลทรรศน์และใช้เทคนิคทางแสงอินฟราเรด ทำให้พบว่าจุดขาวนั้นคือผลึกของธาตุแคลเซียมและฟอสเฟตที่ก่อตัวขึ้นมาภายหลัง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน้ำระเหยออกไป (dehydrate) ภายใต้สภาวะแช่แข็งทำให้แคลเซียมแยกตัวออกมาจากโครงสร้าง ไคตินของเปลือกกุ้ง ดังนั้น จุดขาวนี้จึงไม่ใช่เกิดจากการติดเชื้อโรคใดๆ และมั่นใจว่ากุ้งแช่แข็งปลอดภัยต่อการบริโภค ข้อมูลที่ได้มีส่วนช่วยในการบริหารจัดการสภาวะการเพาะเลี้ยง การเก็บรักษากุ้งแช่แข็ง และกำหนดระยะเวลาการขายให้รวดเร็วก่อนการกระตุ้นให้เกิดผลึกแคลเซียมขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกกว่า 1,350 ล้านบาท/ปี
♦ การศึกษากระจกเกรียบโบราณด้วยแสงซินโครตรอน
นักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ทำการศึกษาคุณสมบัติของกระจกเกรียบจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ “วัดพระแก้ว” ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยศึกษาทั้งองค์ประกอบทางเคมี และโครงสร้างอะตอมของกระจกตัวอย่างด้วยแสงซินโครตรอน เพื่อจุดมุ่งหมายที่จะทำกระจกเกรียบขึ้นมาใหม่ที่มีคุณสมบัติเหมือนของเดิมทุกประการ สำหรับการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานของชาติในอนาคต
การศึกษากระจกเกรียบโบราณด้วยแสงซินโครตรอน ด้วยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ เพื่อหาว่ากระจกแต่ละสีประกอบด้วยธาตุชนิดใดบ้าง และมีปริมาณเท่าไร นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับโครงสร้างอะตอมของธาตุว่า องค์ประกอบเหล่านั้น เรียงตัวกันแบบใด ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญทำให้ทราบถึงการเกิดของแต่ละสีในเนื้อแก้วกระจก คณะนักวิจัยประสบความสำเร็จรู้ถึงองค์ประกอบของกระจกเกรียบที่มีอายุกว่า 150 ปี
♦ “เบนช์มาร์ค อิเลคทรอนิคส์” มั่นใจซินโครตรอนตรวจสอบ Chip Component
บริษัท เบนช์มาร์ค อิเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้า มีการควบคุมคุณภาพการผลิตของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง จึงร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์สถาบันฯ ศึกษาถึงธาตุที่เป็นองค์ประกอบของสารสีน้ำเงิน และสีทองแดง บน Chip Component ด้วยเทคนิค XRF และวิเคราะห์สถานะออกซิเดชันของธาตุนั้น เพื่อให้ทราบถึงโอกาสการเกิดการกัดกร่อน ที่อาจเกิดขึ้นบน Chip component ด้วยเทคนิค X-Ray Absorption Spectroscopy (XAS) ณ สถานีทดลอง BL8 นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาถึงสารที่ปนเปื้อนสารต่าง ๆ บน Chip Component โดยใช้เทคนิค FTIR-Microspectroscopy เพื่อใช้ในการหาสาเหตุในการปนเปื้อนและหาวิธีป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตต่อไป งานวิจัยนี้สามารถเพิ่มความเชื่อมั่นของลูกค้า และลดความสูญเสียจากการผลิตกรณีลูกค้าไม่ส่งคืนสินค้ากว่า 180,000 บาท
♦ “สหวิริยาสตีล” ศึกษาสาเหตุผิวสีดำของแผ่นเหล็กกล้าคาร์บอนต่ำด้วยแสงซินโครตรอน
บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ตรวจพบปัญหาของผลิตภัณฑ์ว่า ในช่วงท้ายของแต่ละชุดการผลิตตรวจพบผิวหน้าของเหล็กกล้าคาร์บอนต่ำมีสีดำ (Dark serface) นักวิจัยของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์สถาบันฯ ศึกษาสาเหตุการเกิดสีดำที่ผิวของเหล็กกล้าคาร์บอนต่ำ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้สีตามมาตรฐาน โดยศึกษาทุกกระบวนการผลิตโดยเก็บผลิตภัณฑ์ และน้ำล้างผลิตภัณฑ์ในแต่ละช่วงการผลิตมาทำการวิเคราะห์ โดยใช้แสงซินโครตรอน ด้วยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (X-ray absorption Spectroscopy) ที่สถานีทดลอง BL5-SLRI-SUT-NANOTEC ซึ่งพบว่า สาเหตุเกิดจากกระบวนการล้าง และได้ทดลองปรับปรุงกระบวนการผลิตในระดับห้องปฏิบัติการ ซึ่งหากสามารถแก้ไขปัญหา Dark Surface ได้ทั้งหมดคาดการณ์ว่าจะสามารถลดมูลค่าความเสียหายได้อย่างน้อย 16.74 ล้านบาท/ปี
♦ ระบบควบคุมตู้ฟัก-ตู้เกิด ทดแทนการใช้ระบบปรอทควบคุม
บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีระบบการฟักไข่ที่ทำการติดตั้งจากตัวแทนจำ หน่ายหลากหลายยี่ห้อ มีทั้งระบบที่ทันสมัยและระบบรุ่นเก่าที่ใช้งานมานานกว่า10 ปี ดั้งนั้น เพื่อเป็นการปรับปรุงระบบรุ่นเก่าให้ดีขึ้น บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จึงร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) พัฒนาระบบควบคุมตู้ฟัก-ตู้เกิดขึ้น สำหรับห้องฟักไข่ขึ้นและสร้างระบบควบคุมอุณหภูมิภายในโรงฟักขึ้นมา เพื่อทดแทนระบบเก่าที่ล้าสมัยแล้ว ให้สามารถผลิตขึ้นใช้ได้เองภายในองค์กรลดการสั่งซื้อและว่าจ้างจากตัวแทนจำหน่าย โดยชุดควบคุมตู้ฟักชุดแรกได้ทำการติดตั้งและทดสอบที่โรงฟักไข่ ณ ประเทศปากีสถาน จากนั้นมีแผนที่จะเปลี่ยนระบบของโรงฟักไข่ในประเทศปากีสถานเป็นระบบควบคุมชุดใหม่ทั้งหมด
♦ การควบคุมการระบายอากาศของระบบ EVAPORATION ด้วยหลักการของ Enthalpy
บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ความสนใจและพัฒนาปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงไก่อย่างต่อเนื่อง ทางบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) พัฒนาอุปกรณ์เพื่อวัดค่า Enthalpy เพื่อบ่งบอกถึงสถานะต่างๆของอากาศได้มาใช้ในการควบคุมระบบระบายอากาศ เพื่อให้ไก่ได้อยู่ในสภาพอากาศที่เหมาะสมกับการเลี้ยงมากที่สุด เพื่อลดอัตราการตายของไก่และเพิ่มผลผลิต
♦ เครื่องเคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์...ฝีมือคนไทย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ออกแบบและพัฒนาระบบเคลือบกระจก เพื่อผลิตเครื่องเคลือบกระจกขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีการเคลือบกระจกที่ทันสมัยและคุณภาพดีทัดเทียมกับการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ เครื่องเคลือบกระจกดังกล่าวยังสามารถเคลือบกระจกสะท้อนแสงของกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.4 เมตร ซึ่งสามารถให้บริการแก่สถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ได้ด้วย
♦ พัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมคุณภาพสูงด้วยแสงซินโครตรอน
นักวิจัยสถาบันฯ ได้ประยุกต์ใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์จากแสงซินโครตรอน ณ ระบบลำเลียงแสง SUT-NANOTEC-SLRI เพื่อศึกษาและพัฒนาศักยภาพของวัสดุชนิดใหม่สำหรับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียม โดยวิเคราะห์วัสดุที่จะนำมาใช้เป็นขั้วบวก (แอโนด) ในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียม และได้พัฒนากระบวนการสังเคราะห์โดยการใช้เทคนิคอิเล็กโทรสปินนิ่ง เพื่อสังเคราะห์เส้นใยคาร์บอนในระดับนาโนเมตรที่มีการเกาะตัวของสารแม่เหล็กชนิดเฟอร์ไรต์ต่างๆ บนเส้นใยนาโน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของขั้วแอโนดนี้ อีกทั้งเมื่อสามารถเข้าใจถึงโครงสร้างของสารเหล่านี้แล้ว องค์ความรู้ดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาสารอื่นๆเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้อีก งานวิจัยนี้เป็นการร่วมมือวิจัยระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ ศ.ดร.สันติ แม้นศิริ หัวหน้ากลุ่มวิจัยวัสดุเชิงฟิสิกส์ขั้นสูง (Advanced Materials Physics) จากสาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลจากการวิจัยพบว่าสารที่ศึกษาดังกล่าวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการนำไปใช้เป็นขั้วแอโนดสำหรับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนศักยภาพสูงได้ดีกว่าการใช้วัสดุแบบดั้งเดิมได้ โดยองค์ความรู้ที่ได้นี้จะถูกส่งต่อไปยังภาคอุตสาหกรรมในการผลิตใช้งานจริงได้ในอนาคต
♦ การศึกษาพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงเฟสของวัสดุโอลิวีนในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนด้วยเทคนิค In situ XAS
การทำการทดลองในครั้งนี้ ทีมงานของสถาบันฯ และศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ทำการทดลองใช้แสงซินโครตรอน ในการศึกษาพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงเฟสของวัสดุโอลิวีนในขณะที่ทำการอัดและคายประจุภายใต้สภาวะการใช้งานจริงต่างๆ ของแบตเตอรี่ โดยสามารถแสดงให้เห็นว่า วัสดุโอลิวีนขนาดราว 40-50 นาโนเมตร มีการเปลี่ยนแปลงเฟสที่ขึ้นอยู่กับอัตราเร็วในการอัดและคายประจุ โดยวัสดุที่มีประสิทธิภาพสูง จะมีการเปลี่ยนเฟสที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโครงสร้างกึ่งเสถียร (Metastable) ที่สามารถเปลี่ยนเฟสต่อไปเป็นโครงสร้างผลึกที่เสถียรได้ โดยความรู้ที่ได้ จะมีประโยชน์ต่อการออกแบบการใช้งานวัสดุโอลิวีน และวัสดุสำหรับทำขั้วไฟฟ้าชนิดอื่นที่มีพฤติกรรมการเปลี่ยนเฟสลักษณะเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระยะเวลาในการใช้งานที่ยาวนาน และคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด
♦ การเปลี่ยนสีและสร้างลวดลายบนเปลือกหอยมุก
สถานบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และบริษัท Microform (Thailand) Co., Ltd. ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เปลือกหอยมุก ได้ร่วมวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนเพื่อเปลี่ยนสีและสร้างลวดลายความละเอียดสูงบนเปลือกหอบมุกพันธุ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความสวยงามและมูลค่าเชิงพาณิชย์ อีกทั้งเป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยงานวิจัยนี้ได้ยื่นขอสิทธิบัตรในปี 2558 ในหัวข้อ การเปลี่ยนสีเปลือกหอยมุกและสร้างลวดลายด้วยแสงซินโครตรอน เลขที่คำขอสิทธิบัตร 1501005006
♦ อุปกรณ์เชิงแสงแบบพกพา
ดร.ณัฐธวัล ประมาณพล นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกับส่วนงานระบบลำเลียงแสง 6a: DXL ได้ร่วมพัฒนาอุปกรณ์วัดเชิงแสงหลายช่วงความยาวคลื่นแบบพกพา และนำไปใช้ในการวัดการส่องผ่านหรือการดูดกลืนแสงของสารละลายอย่างง่าย โดยใช้สารละลายในการวัดปริมาณน้อยกว่า 500 ไมโครลิตร
♦ การพัฒนาโปรแกรมสำหรับควบคุมแหล่งจ่ายกำลังไฟฟ้าสำหรับแม่เหล็ก 2 ขั้ว (Bending Magnet) ของบูสเตอร์ซินโครตรอน (Booster Synchrotron)
สถาบันฯ ได้ร่วมมือกับ Danfysik พัฒนาโปรแกรมสำหรับควบคุมแหล่งจ่ายกำลังไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ โดยเลือกโปรแกรม National Instruments LabVIEW เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการพัฒนา ซึ่งตัวโปรแกรมได้แบ่งเป็นส่วนสำคัญ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ โปรแกรมสำหรับควบคุมและเชื่อมต่อกับบอร์ดควบคุมหลัก ทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างจอสัมผัส (Touch Screen) และบอร์ดควบคุมหลักยี่ห้อ Danfysik รุ่น System8500 ผ่านมาตรฐานการเชื่อมต่อแบบอนุกรม RS-232 และในส่วนที่สองเป็นโปรแกรมสำหรับควบคุมระยะไกลผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยผ่านมาตรฐานของการรับส่งข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์แบบ TCP/IP และในการใช้งานจริงตัวโปรแกรมนี้ถูกติดตั้งไว้ที่ห้องควบคุม เพื่อให้ผู้ดูแลระบบเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนสามารถควบคุมและตรวจสอบสถานะของแหล่งจ่ายกำลังไฟฟ้า
♦ ตอบคำถามสีของเครื่องสำอางด้วยแสงซินโครตรอน
สถาบันวิจัยแสงซินโครตอน ใช้เทคนิค X-Ray Absorption Spectroscopy ในการศึกษาสีของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เทคนิคนี้ ทำให้ทราบข้อมูลเชิงลึกว่าเครื่องสำอางนั้นมีองค์ประกอบของธาตุใดในเครื่องสำอาง และธาตุชนิดเดียวกัน แต่มีหลากหลายสถานะออกซิเดชั่นนั้น ให้ผลการเกิดสีแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งข้อมูลนี้เป็นฐานความรู้ที่สามารถต่อยอดให้การพัฒนาสูตรเครื่องสำอางให้ได้สีตามที่ต้องการ และการเติมสารที่ช่วยในการจับกับธาตุอย่างไร เพื่อให้สีสันเกิดความคงตัวและอยู่ติดทน