เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการบรรพชีวินไทยและมหกรรมความรู้ไดโนเสาร์ไทย ครั้งที่ 3 "บรรพชนชื่นชีวิน ครั้งที่ 3 La 3ème Fête des Dinos : DinoLab" จัดโดย ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ จังหวัดนครราชสีมา กว่า 150 คน เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน นำโดย ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ ดร.ศิรินาฏ ศรีจันทร์ ดร.กรองทอง กมลสรวงเกษม และคณะนักวิจัย นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าเยี่ยมระบบลำเลียงแสงซินโครตรอนของห้องปฏิบัติการแสงสยาม โดยมุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคการใช้แสงซินโครตรอนในงานทางด้านธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยา
โดยในโอกาสนี้ สถาบันฯ ได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาของประเทศไทย ได้แก่ อ.ดร.วราวุธ สุธีธร นักธรณีวิทยาและนักบรรพชีวินวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องฟอสซิลสัตว์มีกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นผู้ค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่หลายชนิดในประเทศไทย เจ้าของนามเรียกขานไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ สยามโมซอรัส สุธีธรณี และคุณนเรศ สัตยารักษ์ นักธรณีวิทยา ผู้ค้นพบไดโนเสาร์ซิตตะโกซอรัสชนิดใหม่ ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กี รวมถึง รศ.ดร.เบ็ญจวรรณ รัตนเสถียร ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยา อ.ดร.สุรเวช สุธีธร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้าเยี่ยมชมสถาบันฯ
ยิ่งไปกว่านั้น ผศ.ดร. ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราชและสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ พร้อมผู้บริหารและนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญได้แก่ อ.ดร. วิไลลักษณ์ นาคศรี อ.ดร. จรูญ ด้วงกระยอม ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ ดร.วิภานุ รักใหม่ Dr. Paul J. Grote และคณะ ให้เกียรติเข้าเยี่ยมชมสถาบันฯ ร่วมกับคณะผู้เข้าเยี่ยมชมอีกด้วย และหารืองานวิจัยเกี่ยวกับการใช้แสงซินโครตรอนกับงานวิจัยทางบรรพชีวินวิทยาในเขตอุทยานธรณีโคราช อีกด้วย
นอกจากนี้ คุณแทนไท ประเสริฐกุลและคุณอาบัน สามัญชน จากรายการ WiTcast อีกทั้งคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้วประเทศ พร้อมทั้ง เด็ก เยาวชน และประชาชนที่สนใจ ได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยามที่ทันสมัย รวมถึงได้ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตแสงซินโครตรอนและการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในงานธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาอีกด้วย