สาวๆ หลายคนมี “เซลลูไลท์” เป็นปัญหากวนใจ ด้วยลักษณะผิวหนังที่เป็นรอยบุ๋ม ขรุขระ ที่มักพบบริเวณสะโพก ต้นขา ท้องน้อย หน้าอก และต้นแขน ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดเซลลูไลท์ที่แน่ชัด แต่พบความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) และชั้นเนื้อเยื่อเซลล์ไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังกำพร้า นอกจากนี้ยังพบว่า ฮอร์โมนและอายุมีผลสำคัญต่อกระบวนการเกิดเซลลูไลท์
หนึ่งในวิธีที่นิยมเพื่อลดเซลลูไลท์คือการทาครีมและโลชั่น และยังมีรายงานอย่างแพร่หลายว่า สารสกัดจากเห็ดหลินจือช่วยลดการเกิดเซลลูไลท์ได้ คณะนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้แก่ นายสุชีวิน กรอบทอง นางสาวปวิตตราภรณ์ สมุทรทัย และนายยอดยิ่ง ยิ่งชูตระกูล พร้อมด้วย รศ.ดร.เกียรติทวี ชูวงศ์โกมล จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.บัวบาล กัวประเสริฐ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จึงได้ร่วมกันพัฒนากรรมวิธีสกัดสารจากเห็ดหลินจือ เพื่อพัฒนาเป็นครีมทาสำหรับลดการสะสมของเซลลูไลท์
สารสกัดจากเห็ดหลินจือที่ทีมวิจัยให้ความสนใจ คือสารประเภทโปรตีนไฮโดรไลเสท ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดการสะสมของเซลล์ไขมัน โดยใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์ด้วยเทคนิคฟูเรียร์ทรานส์ฟอร์มอินฟราเรดไมโครสเปกโตรสโคปี (synchrotron FTIR microspectroscopy) ในการระบุตำแหน่งของสารประเภทโปรตีนไฮโดรไลเสทตามส่วนต่างๆ ของเห็ดหลินจือที่นำมาศึกษา เพื่อหาตำแหน่งของเห็ดหลินจือที่มีโปรตีนสูงสุด เพื่อนำส่วนดังกล่าวไปสกัดให้ได้โปรตีนไฮโดรไลเสทสำหรับผลิตเครื่องสำอางต่อไป
ผลจากการวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนพบว่า บริเวณส่วนบน (cap region) ของเห็ดหลินจือมีปริมาณโปรตีนสูงกว่าส่วนล่าง (stem region) ของเห็ดหลินจืออย่างชัดเจน โดยพิจารณาจากปริมาณโปรตีนเชิงสัมพัทธ์ในรูปแบบการวิเคราะห์ด้วยแผนภูมิความร้อน (heat-map analysis) ที่รายงานโปรตีนไล่ตามเฉดสี ผลการวิเคราะห์นี้ทำให้ได้กรรมวิธีใหม่ในการสารสกัดโปรตีนไฮโดรไลเสทจากเห็ดหลินจือที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการสะสมไขมันของเซลล์ไขมัน นอกจากนี้เมื่อทดสอบความเป็นพิษ กับเซลล์ปกติ ผิวหนัง และเซลล์ไฟโบรบลาสต์ ยังพบว่าสารสกัดโปรตีนโดรไลเสทจากเห็ดหลินจือไม่ส่งผลให้เซลล์ตายอีกด้วย
กระบวนการพัฒนากรรมวิธีสกัดสารจากเห็ดหลินจือโดยใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์นั้น เป็นการพัฒนาให้เป็นขั้นตอนที่ง่าย ลดระยะเวลา ลดต้นทุน และสามารถทำกับตัวอย่างจากธรรมชาติที่มีลักษณะเปลือกแข็งอย่างเห็ดหลินจือได้ และสามารถพัฒนาจากต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการไปสู่การใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้ รวมถึงเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ภาพแสดงเห็ดหลินจือ และผลการวิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนโดยแสดงในรูปแบบ heat-map ซึ่งภาพส่วนบนของเห็ดหลินจือและปริมาณโปรตีนแสดงในรูป A และ C ตามลำดับ และส่วนล่างของเห็ดหลินจือและปริมาณโปรตีนแสดงในรูป B และ D ตามลำดับ ปริมาณโปรตีนเชิงสัมพัทธ์แสดงไล่ตามสีโดยสีขาวแสดงถึงปริมาณโปรตีนมากสุดและสีน้ำเงินแสดงโปรตีนน้อยสุด
บทความโดย
รศ.ดร.เกียรติทวี ชูวงศ์โกมล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.บัวบาล กัวประเสริฐ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง
เรียบเรียงโดย ส่วนสื่อสารองค์กร
เอกสารอ้างอิง:
1. อนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2003001351 วันที่ยื่นขอ 19/06/63
2. Publication: Krobthong, S.; Yingchutrakul, Y.; Visessanguan, W.; Mahatnirunkul, T.; Samutrtai, P.; Chaichana, C.; Papan, P.; Choowongkomon, K. Study of the Lipolysis Effect of Nanoliposome-Encapsulated Ganoderma lucidum Protein Hydrolysates on Adipocyte Cells Using Proteomics Approach. Foods 2021, 10, 2157.