FB Linzhi


เพปไทด์ (peptides) คือสายโซ่ของกรดอะมิโนสายสั้นๆ มีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์ ได้แก่ ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านสารอนุมูลอิสระ ลดการสะสมไขมัน และต้านการเกิดมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันเพปไทด์ได้รับความสนใจนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารฟังก์ชัน เพื่อป้องกันและรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคอ้วน เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการสะสมไขมันในร่างกาย และจะส่งผลให้มีการสะสมไขมันและไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายที่น้อยลง เราพบเพปไทด์จากธรรมชาติได้ทั้งในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เช่น พืช สัตว์รวมทั้งเห็ดชนิดต่างๆ ด้วย


จากข้อมูลเบื้องต้นว่าเห็ดหลินจือ (Lingzhi) ถูกนำมาใช้บริโภคเพื่อบำรุงสุขภาพมาเป็นเวลานาน และยังมีผลการศึกษามากมายยืนยันว่า เห็ดชนิดนี้มีฤทธิ์ทางชีวภาพด้านการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ต้านการอักเสบ บรรเทาอาการเจ็บปวด ลดภาวะเครียด ชะลอวัย ยับยั้งการแพร่กระจายของโรคมะเร็ง และลดการสะสมของไขในในร่างกาย รวมทั้งเป็นเห็ดที่อุดมไปด้วยโปรตีน คณะวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้แก่ ดร.สุชีวิน กรอบทอง ดร.อัจฉรา แพมณี ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง และนายยอดยิ่ง ยิ่งชูตระกูล พร้อมด้วย ดร.ชาติชาย ไชยชนะ จากศูนย์ความเป็นเลิศวิจัยโรคเบาหวานและโรคอ้วน ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยหิดล ศ.ดร.เกียรติทวี ชูวงศ์โกมล จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.บัวบาล กัวประเสริฐ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จึงได้ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมการสกัดโปรตีนจากเห็ดหลินจือในรูปของโปรตีนไฮโดรไลเสทสำหรับต่อยอดเป็นอาหารฟังก์ชัน (Functional Food)


ทีมวิจัยใช้แสงซินโครตรอนในการคัดเลือกส่วนของดอกเห็ดหลินจือที่มีการสะสมโปรตีนในปริมาณสูงด้วยเทคนิคการถ่ายภาพการดูดกลืนแสงอินฟราเรดจากแสงซินโครตรอน (synchrotron FTIR spectroscopy and imaging) ของส่วนดอก (cap) และก้านดอก (stipe) ของเห็ดหลินจือในภาคตัดขวาง และวิเคราะห์ผลด้วยแผนภูมิความร้อน (heat-map analysis) ที่แสดงปริมาณโปรตีนเชิงเปรียบเทียบตามเฉดสี พบว่าบริเวณส่วนดอกของเห็ดหลินจือ มีการสะสมโปรตีนสูงกว่าก้านดอก การวิเคราะห์ปริมาณโปรตีนด้วยวิธีนี้มีการเตรียมตัวอย่างที่ง่าย การวิเคราะห์ผลไม่ยุงยากซับซ้อน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถวิเคราะห์ตัวอย่างจากธรรมชาติที่มีลักษณะเปลือกแข็งอย่างเห็ดหลินจือได้ง่าย ทำให้ลดระยะเวลา ลดต้นทุนในการวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดี

 

ผลการวิเคราะห์นี้ได้นำไปสู่การคัดเลือกชิ้นส่วนของเห็ดหลินจือที่เหมาะสม เพื่อนำไปใช้ในกรรมวิธีสกัดโปรตีนไฮโดรไลเสทให้ได้เพปไทด์ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในรูปของนาโนแคปซูล (liposome nano-encapsulated peptide) ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งการสะสมไขมันของเซลล์ไขมัน นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดนี้ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนังไฟโบรบลาสต์ชนิดเพาะเลี้ยงที่ทำหน้าที่ในการสร้างคอลลาเจนอีกด้วย (2) นับเป็นการประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนด้านการพัฒนาต้นแบบเพปไทด์จากเห็ดหลินจือที่ถูกเก็บรักษาไว้ในรูปของนาโนแคปซูลระดับห้องปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสูตรอาหารฟังก์ชั่นด้านการแพทย์เพื่อป้องกันภาวะการเกิดโรคอ้วนและรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโรคอ้วนในภาคอุตสาหกรรมต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง:
1. อนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2003001351 วันที่ยื่นขอ 19/06/63: สุชีวิน กรอบทอง, อัจฉรา แพมณี, สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง, บัวบาล กัวประเสริฐ, ชาติชาย ไชยชนะ, เกียรติทวี ชูวงศ์โกมล และ ยอดยิ่ง ยิ่งชูตระกูล, กรรมวิธีในการสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีความสามารถในการยับยั้งการสะสมไขมันและยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระจากเห็ดหลินจือ

 

2. Publication: Krobthong, S.; Yingchutrakul, Y.; Visessanguan, W.; Mahatnirunkul, T.; Samutrtai, P.; Chaichana, C.; Papan, P.; Choowongkomon, K. Study of the Lipolysis Effect of Nanoliposome-Encapsulated Ganoderma lucidum Protein Hydrolysates on Adipocyte Cells Using Proteomics Approach. Foods 2021, 10, 2157.

 

 

บทความโดย
ดร.สุชีวิน กรอบทอง

ดร.อัจฉรา แพมณี ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง และนายยอดยิ่ง ยิ่งชูตระกูล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.ชาติชาย ไชยชนะ จากศูนย์ความเป็นเลิศวิจัยโรคเบาหวานและโรคอ้วน ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยหิดล ศ.ดร.เกียรติทวี ชูวงศ์โกมล จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดร.บัวบาล กัวประเสริฐ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน

เรียบเรียงโดย ส่วนสื่อสารองค์กร