อุปกรณ์วัดเชิงแสงแบบพกพา เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ความเข้มข้นของสารละลายที่ต้องการทดสอบในปริมาณน้อย ประดิษฐ์ขึ้นโดยฝีมือนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ซึ่งมีราคาถูก ขนาดกะทัดรัด สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานด้านเคมีคลินิก เช่น ตรวจหาปริมาณน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
อุปกรณ์วัดเชิงแสงแบบพกพา เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีหลักการทำงานคล้ายเครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ทั่วไปที่ใช้ในการวิเคราะห์สารเชิงปริมาณ สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงการดูดกลืนแสงในสารละลายที่มีความเข้มข้นต่างกัน ทำให้เราทราบปริมาณสารในตัวอย่างสารละลายที่ต้องการทดสอบได้ โดยเครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทั่วไปนั้นมีขนาดใหญ่ ราคาค่อนข้างสูง จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และไม่สะดวกต่อการใช้งานภาคสนาม อีกทั้งจำเป็นต้องใช้สารละลายในการทดสอบไม่น้อยกว่า 1 มิลลิลิตร ตามขนาดของคิวเวทท์ (Cuvette) จึงทำให้สิ้นเปลืองสารเคมี หรือน้ำยาที่ใช้ทดสอบ และมีข้อจำกัดในการทดสอบสารตัวอย่างที่มีปริมาณน้อย จึงเป็นที่มาของการพัฒนาอุปกรณ์วัดเชิงแสงแบบพกพาที่มีราคาถูก ขนาดกะทัดรัด และใช้สารละลายตัวอย่างปริมาณน้อย ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางด้านเคมีคลินิก ในการตรวจวัดปริมาณสารชีวเคมีต่างๆ เช่น ปริมาณกลูโคสในเลือด เป็นต้น เพื่อตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรค หรือติดตามการดำเนินของโรคในเบื้องต้น ซึ่งได้รับความร่วมมือในการทดสอบการใช้งานจากภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ผลงานดังกล่าว เป็นการตอบโจทย์นวัตกรรมภายในประเทศ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิจัยไทย ที่พยายามสร้างเครื่องมือขึ้นใช้เองจากทรัพยากรที่มีอยู่และหาได้ในท้องตลาด เพื่อลดการนำเข้า และการเสียดุลทางการค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสนับสนุนการเรียนการสอน และมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดทางเทคนิคการแพทย์ต่อไป
![]() |
![]() |
|
ภาพที่ 1 อุปกรณ์วัดเชิงแสงแบบพกพารุ่นแรก มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ หลอดแอลอีดีหนึ่งย่านความยาวคลื่นเป็นแหล่งกำเนิดแสง และระบบของไหลจุลภาคแทนคิวเวทท์ ผลงานนี้ได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 11634 | ภาพที่ 2 อุปกรณ์เชิงแสงแบบพกพารุ่นที่สองมีความแตกต่างจากอุปกรณ์รุ่นแรก คือ ประกอบด้วยหลอดแอลอีดีหลายดวง ครอบคลุมหลายช่วงความยาวคลื่น เป็นแหล่งกำเนิดแสง และใช้หลุมจุลภาคแทนคิวเวทท์ ทำให้ใช้งานได้สะดวกขึ้นผลงานนี้ได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามอนุสิทธิบัตรเลขที่ 12727 | ภาพที่ 3 อุปกรณ์วัดเชิงแสงรุ่นล่าสุดที่ สซ. พัฒนาให้มีขนาดเล็ก เหมาะแก่การใช้งานนอกสถานที่ เปรียบเทียบกับเครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ในห้องปฏิบัติการที่มีขนาดใหญ่ก |