ในสมัยโบราณนิยมนำโลหะเงินหรือซิลเวอร์มาขึ้นรูปเป็นภาชนะบรรจุหรือเครื่องประดับ กระทั่ง ฮิปโปเครติส นายแพทย์ชาวกรีกและบิดาการแพทย์สมัยใหม่ ได้นำผงเงินมาใช้ในการรักษาบาดแผลครั้งแรกเมื่อ 460 – 377 ปี ก่อนคริสตกาล ต่อมานายแพทย์ Crede ชาวเยอรมัน ได้นำสารละลายซิลเวอร์ไนเตรตมารักษาการติดเชื้อหนองในจากมารดาสู่ทารกได้สำเร็จ หลังจากนั้นเงินและสารประกอบของเงินจึงเริ่มกลายที่รู้จักในวงการแพทย์ว่าสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียและจุลินทรีย์ได้ดีเยี่ยม โดยไอออนซิลเวอร์ ทำให้เอนไซม์ที่มีบทบาทในการผลิตพลังงานให้เชื้อแบคทีเรียไม่สามารถทำงานได้ เมื่อเชื้อแบคทีเรียขาดพลังงาน เชื้อแบคทีเรียก็จะตายในที่สุด
ปัจจุบันได้มีการคิดค้นเพื่อสังเคราะห์อนุภาคนาโนเงินด้วยเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ได้โลหะเงินมีขนาดเล็กในระดับนาโนเมตรที่มีพื้นที่ผิวสูง ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการทดลองเคลือบอนุภาคนาโนเงินลงบนเยื่อเลือกผ่านพอลิเมอร์ชนิดต่างๆ เพื่อนำไปใช้กับวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ โดยอนุภาคนาโนโลหะเงินจะถูกออกซิไดซ์ด้วยออกซิเจนที่ผิวเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย จนได้ไอออนซิลเวอร์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตามการพิสูจน์อัตลักษณ์สำหรับอนุภาคนาโนเงินยังมีข้อจำกัด เนื่องจากอนุภาคมีขนาดเล็กมากในระดับนาโนเมตร
ภาพจำลองอนุภาคนาโนเงิน (ซ้าย) และสเปกตรัมของตัวอย่างอนุภาคนาโนเงินเปรียบเทียบกับโลหะเงินบริสุทธิ์ (ขวา)
คณะวิจัยนำโดย ดร.Ngo Hong Anh Thu จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอย ประเทศเวียดนาม จึงร่วมวิจัยกับ ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงที่ 8 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย ใช้เทคนิคสเปกโทรสโกปีการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (X-ray absorption spectroscopy, XAS) ร่วมกับแหล่งกำเนิดแสงที่มีความเข้มข้นสูงในระดับ 108-1011 โฟตอนต่อวินาที เพื่อวิเคราะห์ประจุของอนุภาคนาโนเงิน จากผลการทดลองพิสูจน์ได้ว่า อนุภาคนาโนเงินบนเยื่อบางพอลิเมอร์ที่สังเคราะห์ ได้การดูดกลืนรังสีเอกซ์ที่เหมือนกับโลหะเงินบริสุทธิ์ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของคณะวิจัย นอกจากนี้คณะวิจัยยังได้ศึกษาประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อแบคทีเรียของอนุภาคนาโนเงินบนพอลิเมอร์ชนิดนี้ สำหรับการประยุกต์ใช้เคลือบวัสดุด้านการแพทย์ต่างๆ เช่น ปิดแผล วัสดุฝังในร่างกาย วัสดุทันตกรรม เป็นต้น เพื่อเพิ่มคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และลดอัตราการเกิดสภาวะรอยโรคการอักเสบในคนไข้ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น