กลุ่มวิจัย ดร. Drexel H. Camacho จากประเทศฟิลิปปินส์ ได้ศึกษากระบวนการเติมความพรุนลงในข้าวกล้องและข้าวขัดสีด้วยวิธี Sonication ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนอกจากจะช่วยเพิ่มความนุ่มให้กับข้าวกล้องเมื่อนำไปหุง ยังสามารถจะเติมธาตุเหล็กที่จำเป็นต่อร่างกายเข้าสู่เม็ดข้าวสารผ่านความพรุนนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับข้าวสารได้อีกด้วย
ทั้งนี้ในงานวิจัย ดร. Drexel ได้ใช้เทคนิคการถ่ายภาพเอกซเรย์โทโมกราฟีที่สถานีทดลองเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ (XTM) ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพื่อใช้ภาพถ่ายเอกซเรย์
สามมิติในการศึกษาและวิเคราะห์ร่อง (fissures) และรอยแตก (cracks) รวมถึงความพรุนภายในเมล็ดของข้าวสารที่เกิดจากกระบวนการ sonication แบบต่าง ๆ (ดังรูปที่ 1 และ 2) งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Ultrasonics Sonochemistry (impact factor 7.630)
รูปที่ 1 ภาพถ่ายเอกซเรย์โทโมกราฟีของข้าวขัดสีชนิดไม่เคลือบแว็กซ์ (IR64) (A) เมล็ดข้าวสารชุดควบคุม (B) เมล็ดข้าวสารที่ผ่านการ sonication เป็นเวลา 5 นาที
รูปที่ 2 ภาพเอกซเรย์โทโมกราฟีแสดงปริมาณความพรุน (% porosity) เปรียบเทียบในเมล็ดข้าวสารขัดสีและข้าวกล้อง ที่ผ่านการ sonication เป็นเวลา 5 นาที. (A ) เมล็ดข้าว IR64 ชนิดไม่เคลือบแว็กซ์ และ
(B ) เมล็ดข้าว IR65 ชนิดเคลือบแว็กซ์.
บทความโดย ดร.แคทลียา โรจน์วิริยะ ผู้จัดการและนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง
ที่มา: Aldrin P. Bonto, Rhowell N. Tiozon, Catleya Rojviriya, Nese Sreenivasulu, Drexel H. Camacho, Sonication increases the porosity of uncooked rice kernels affording softer textural properties, loss of intrinsic nutrients and increased uptake capacity during fortification, Ultrasonics Sonochemistry, Volume 68, 2020, 105234, ISSN 1350-4177.