การพัฒนาเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ความงามโดยการนำเอาความก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่โดยเฉพาะนาโนเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องสำอางให้ดีขึ้นเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ครีมกันแดดก็เป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาโดยอาศัยอนุภาคนาโน (Nanoparticle, NPs) ของสารโลหะออกไซด์ที่สามารถสะท้อนรังสียูวีเพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด
แต่การใช้อนุภาคนาโนเหล่านี้ยังเป็นที่ถกเถียงถึงความปลอดภัยในประเด็นการซึมผ่านลงสู่ชั้นผิวหนัง ซึ่งหาก NPs เหล่านี้เกิดการซึมลงไปลึกถึงชั้นผิวหนังแท้ก็มีแนวโน้มที่สารดังกล่าวจะผ่านไปสู่เนื้อเยื่ออวัยวะและแทรกซึมเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้
ด้วยเหตุผลข้างต้น บริษัท แพน ราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำแบรนด์เวชสำอางรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยซึ่งมีนโยบายในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ่านการค้นคว้าวิจัยโดยมุ่งเน้นนวัตกรรมความงามที่มีคุณภาพและต้องมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงร่วมมือกับทีมนักวิจัยของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ Minus-Sun Facial Sun Protection SPF50+ PA+++ ด้วยเทคนิค micro-synchrotron based X-ray fluorescence imaging โดยศึกษาการซึมผ่านผิวหนังของอนุภาคนาโนไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium dioxide, TiO2) และซิงค์ออกไซด์ (Zinc oxide, ZnO) ซึ่งเป็นสารกันแดดที่เติมลงในผลิตภัณฑ์ โดยใช้ผิวหนังของหมูแรกเกิดเป็นผิวหนังจำลองติดตามการซึมผ่านผิวหนังตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้าจนถึงชั้นหนังแท้ พบว่า อนุภาคนาโน TiO2 และ ZnO ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะมารวมกันเป็นกลุ่มในบริเวณผิวของหนังกำพร้าชั้นนอกสุดหรือชั้นขี้ไคล (stratum corneum) และบริเวณรูขุมขน แต่ไม่สามารถซึมผ่านทะลุชั้นหนังกำพร้า (epidermis) และชั้นหนังแท้ (dermis) ของผิวหนังที่แข็งแรงไม่มีบาดแผลหรือไม่มีความเสียหายได้ ข้อมูลงานวิจัยจากสถาบันฯ ที่ได้นี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญในการพิสูจน์ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดในแง่ของการปราศจากความเป็นพิษจากการซึมผ่านของสารอนุภาคนาโนลงในผิวหนัง สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดจาก บริษัท แพน ราชเทวี กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนับเป็นก้าวสำคัญของงานวิจัยต่อวงการแพทย์ผิวหนังและวงการเครื่องสำอาง ที่จะจุดกำเนิดของวิจัยเชิงลึกเพื่อการทดสอบและประเมินความปลอดภัยของเครื่องสำอางที่มีการประชาสัมพันธ์ว่าเป็นนาโนคอสเมติคส์ รวมถึงการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่สูงขึ้น
คณะวิจัยโครงการฯ
ดร.วรวิกัลยา เกียรติ์พงษ์ลาภ, ดร.นิชาดา เจียรนัยกูร และ นส.นันทิยา วงศ์แสงตา สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
ผศ. ภญ. ดร.พนิดา ลอออรรถพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงงานนวัตถกรรม บริษัท แพน ราชเทวี กรุ๊ป จำกัด