FB เหดหลนจอ

จากการเติบโตของความนิยมในอาหารทางเลือก (functional food) ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย จึงเป็นโอกาสของไทยที่เป็นฐานชีวภาพที่หลากหลายและเป็นประเทศเกษตรกรรม ทีมวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จึงร่วมมือกันศึกษา “เห็ดหลินจือ” ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพ และการศึกษาก่อนหน้าพบว่าเห็ดหลินจือมีโปรตีนสูง สอดคล้องกับการพัฒนาอาหารทางเลือกที่มุ่งให้ความสำคัญกับสารออกฤทธิ์อย่างเปปไทด์หรือกลุ่มโปรตีนสายสั้น

แม้ว่าเห็ดหลินจือจะมีศักยภาพสูงสำหรับพัฒนาเป็นอาหารทางเลือกได้ แต่มีการศึกษาที่พบว่า เห็ดหลินจือจากแหล่งกำเนิดต่างกัน ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและปลูกในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น และเวียดนามนั้น มีสารอาหารที่แตกต่างกันด้วย ทีมวิจัยจาก 3 หน่วยงานข้างต้น จึงร่วมกันวิจัยเพื่อวิเคราะห์คุณค่าสารอาหารของเห็ดหลินจือจากเบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญแห่งหนึ่ง เพื่อพัฒนาเห็ดหลินจือสู่อาหารทางเลือกตามความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นกับภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) หรือจีไอ (GI) และเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของไทยด้วย

ทีมวิจัยได้ใช้แสงซินโครตรอนที่ระบบลำเลียงแสง 4.1 ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนวิเคราะห์เห็ดหลินจือจาก ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา โดยนำชิ้นส่วนเห็ดหลินจือมาวิเคราะห์ด้วยเทคนิคฟูเรียร์ทรานส์ฟอร์มอินฟราเรดไมโครสเปกโตรสโกปี (FTIR) เพื่อระบุเอกลักษณ์และปริมาณสารชีวภาพประเภทโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน รวมทั้งเพื่อใช้ในการคัดเลือกส่วนของเห็ดหลินจือไปสกัดสารออกฤทธิ์ ที่สามารถป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระในเซลล์ที่ถูกกระตุ้นด้วยลิโพพอลฃิแซ็กคาไรด์ (LPS) ทำให้เซลล์เกิดความเครียด ซึ่งภาวะอนุมูลอิสระสูงภายในเซลล์เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายประเภท เช่น โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด โรคอ้วน และโรคมะเร็ง

ผลจากการวิเคราะห์พบว่าเห็ดหลินจือมีสารออกฤทธิ์อย่างเปปไทด์ และยังมีสารประกอบประเภทไขมัน โปรตีน กรดนิวคลีอิค และคาร์โบไฮเดรต แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มมูลค่าให้เห็ดหลินจือ จาก อ.เบตง จ.ยะลา โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือก และมีโอกาสพัฒนาเป็นสินค้าส่งออกและสร้างรายได้ แก่เกษตรผู้เพาะเห็ดหลินจือในชายแดนใต้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตพืช สมุนไพร และมีวัตถุดิบจากธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ส่งผลกระทบทางบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศได้

 

Picture2

กราฟเปรียบเทียบ spectra เฉลี่ยที่ได้จากการวัดด้วยเทคนิค SR-FTIR MS แสดงปริมาณของสารประกอบประเภทไขมัน โปรตีน (amide I, amide II) กรดนิวคลีอิค และคาร์โบไฮเดรตของเห็ดหลินจือ

 

บทความโดย

- นายสุชีวิน กรอบทอง, นางสาวปวิตราภรณ์ สมุทรทัย, นายยอดยิ่ง ยิ่งชูตระกูล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติทวี ชูวงศ์โกมล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- ดร.บัวบาล กัวประเสริฐ นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)

 

เอกสารอ้างอิง:
1. อนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2003001351 วันที่ยื่นขอ 19/06/63
2. Publication: Krobthong, S.; Choowongkomon, K.; Suphakun, P.; Kuaprasert, B.; Samutrtai, P.; Yingchutrakul, Y. The anti-oxidative effect of Lingzhi protein hydrolysates on lipopolysaccharide-stimulated A549 cells. Food Bioscience 2021, 10109.