ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ PM10 ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณฝุ่นที่สูงมากขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ และมะเร็ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า บริเวณที่มีการเผาไหม้ของเครื่องยนต์จะมีปริมาณฝุ่น PM10 สูง ยิ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการส่งออกเป็นหลัก จึงต้องอาศัยการขนส่งทางเรือเดินสมุทร และบริเวณท่าเรือน้ำลึก เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ก็มีความหนาแน่นของเรือเดินสมุทรมาก จึงมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงด้วย
ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของโลกที่นักวิทยาศาสตร์ได้นำเทคนิคทางแสงซินโครตรอนมาศึกษา PM10 ในบริเวณท่าเรือน้ำลึก โดย ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และทีมนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงที่ 5.1W ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ใช้เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์ (X-ray Fluorescence Spectroscopy: XRF) ศึกษาวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบที่อยู่ในฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน โดยเปรียบเทียบแหล่งเก็บตัวอย่าง 3 แหล่งในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งได้เก็บตัวอย่างฝุ่นละอองเป็นระยะเวลา 2 เดือน ติดต่อกัน (1)
ระบบลำเลียงแสงที่ 5.1W
การวิเคราะห์ด้วยเทคนิค XRF ดังกล่าวจะทำให้ทราบถึงข้อมูลชนิดและปริมาณธาตุองค์ประกอบในฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งจะสามารถใช้ในการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพอากาศจากกิจกรรมการเดินเรือรอบท่าเรือน้ำลึก แล้วนำไปใช้แก้ไข ดัดแปลง กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอัตราการเกิดการปล่อยอนุภาคของธาตุชนิดต่างๆที่พบในอากาศ อันจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น ทั้งนี้ยังสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในการศึกษาประเมินคุณภาพอากาศบริเวณท่าเรือในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้
ดร.นิชาดา เจียรนัยกูร นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง
อ้างอิง:
Pongpiachan, S., Jearanaikoon, N., Thumanu, K., Pradubsri, J., Supruangnet, R., Tharasawatpipat, C., Hashmi, M.Z., Apiratikul, R. (2021). Using Synchrotron Radiation X-ray Fluorescence (SRXRF) to Assess the Impacts of Shipping Emissions on the Variations of PM10-bound Elemental Species. Aerosol Air Qual. Res. 21, 210030. https://doi.org/10.4209/aaqr.210030