1

           
              มะเร็ง (cancer) เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพและสาเหตุการตายอันดับต้นๆของโลก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการพัฒนาการรักษามะเร็งให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน อัตราการเกิดมะเร็ง (incidence) หลายๆชนิดยังคงไม่ลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งตับ (liver cancer) ในปัจจุบันมีหลายวิธีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาและป้องกันการเกิดมะเร็ง เช่น การใช้ยาต้านมะเร็ง การฉายรังสี และการผ่าตัด โดยหนึ่งในวิธีที่ได้รับความสนใจในปัจจุบันคือการใช้สารจากธรรมชาติ (phytochemical agents) เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพ ทั้งในรูปสารสกัด สารบริสุทธิ์ หรือแม้กระทั้งการบริโภคพืชชนิดนั้นๆ โดยตรง การบริโภคผักในตระกูลกะหล่ำ (cruciferous vegetables) ถูกพบว่ามีความสัมพันธ์ในการลดอัตราการเกิดมะเร็งหลายๆชนิด ซึ่งรวมถึงมะเร็งตับด้วย โดยสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านมะเร็งคือสารประกอบกลุ่ม
ไอโซไธโอไซยาเนต (isothiocyanates) ได้แก่ อิรูซิน (erucin) ซัลโฟราเฟน (sulforaphane) อิริโซลิน (erysolin) ซัลโฟราฟีน (sulforaphene) และเฟนเนททิลไอโซไธโอไซยาเนต (phenethyl isothiocyanate) การศึกษานี้จึงถูกพัฒนาขึ้น เพื่อหากลไกในการออกฤทธิ์ของสารประกอบกลุ่มไอโซไธโอไซยาเนตหลายๆชนิด เพื่อผลักดันให้มีการใช้พืชกลุ่มนี้ในเชิงสุขภาพเพิ่มยิ่งขึ้น

            รศ.ดร. นาถธิดา วีระปรียากูร และดร. พิมาน โภคาทรัพย์ สาขาวิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ดร. กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกันศึกษาผลของการเปลี่ยนแปลงสารชีวโมเลกุลตับ โดยใช้เทคนิค Synchrotron-based Fourier transform infrared microspectroscopy (SR-IR) ณ ระบบลำเลียงแสง BL 4.1: IR Spectroscopy and Imaging ผลการศึกษาพบว่าเซลล์มะเร็งที่ได้รับสารในกลุ่มไอโซไธโอไซยาเนตมีการเปลี่ยนแปลงสารชีวโมเลกุลในกลุ่มของโปรตีนและไลปิดมากที่สุดและแตกต่างจากยาต้านมะเร็งโดซีแทกเซล     จากผลการศึกษาโดยรวมแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ดีของสารประกอบในกลุ่มไอโซไธโอไซยาเนต (เช่น อิริโซลิน) ซึ่งส่งผลให้เซลล์มะเร็งตับเกิดการตายทั้งแบบอะพอพโทซิสและเนโครซิสเพิ่มมากขึ้น งานวิจัยนี้จะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการใช้สารกลุ่มนี้ ซึ่งรวมถึงผักตระกูลกะหล่ำที่มีสารกลุ่มนี้สูง ในเชิงสุขภาพ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงผลของการเปลี่ยนแปลงหมู่โครงสร้างต่อฤทธิ์ต้านมะเร็งที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถใช้เพื่อพัฒนาสารประกอบกลุ่มนี้ให้มีประสิทธิภาพในการต้านมะเร็งมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคตได้

1

ภาพที่ 1 แสดง PCA Score plot ของ FTIR spectra
เปรียบเทียบระหว่างการใช้สารประกอบไอโซไธโอไซยาเนต และยาต้านมะเร็งวินบลาสทีน และยาโดซีแทกเซล


3

ภาพที่ 2 แสดง Average FTIR spectra ของเซลล์ไลน์มะเร็ง HepG2
เมื่อได้รับสารประกอบกลุ่มไอโซไธโอไซยาเนต เปรียบเทียบกับยาต้านมะเร็งวินบลาสทีนและยาโดซีแทกเซลในขนาด 80 µM เป็นเวลา 24 ชั่วโมง