พืชสามารถผลิตน้ำยางออกมาได้ เมื่อเนื้อเยื่อของพืชถูกทำลาย มีความเสียหาย น้ำยางจะถูกขับออกมา เพื่อใช้ซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย หรือฆ่าเชื้อโรคต่างๆ โดยน้ำยางจะประกอบไปด้วยสารเคมีต่างๆ เช่น อัลคาลอยด์ และโปรตีน หรือเอมไซม์ต่างๆ รวมถึง โปรตีเอส (Protease) ซึ่งโปรตีเอสที่ได้จากพืชตระกูล Euphorbiaceae มีรายงานว่ามีผลต่อการแข็งตัวของเลือด และการละลายลิ่มเลือดของมนุษย์ นักวิจัยได้ทำการศึกษาน้ำยางจากพืช Euphorbia resinifera มีลักษณะคล้ายกระบอกเพชร พบได้ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย พืชชนิดนี้จะผลิตน้ำยาง สีขาว คล้ายน้ำนม ออกมา ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น diterpenes และ triterpenes สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางยาได้
รศ.ทนพญ.ดร.จารุวรรณ ศิริเทพทวี สาขาวิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้นำน้ำยางจากพืชชนิดนี้มาวิเคราะห์คุณสมบัติและศึกษาการทำงานของน้ำยาง โดยใช้เทคนิค Protein Crystallography เริ่มจากกรีดน้ำยางจากพืช และนำมาทำการแยกให้บริสุทธิ์จนได้ โปรตีนโปรตีเอส ที่ชื่อว่า EuRP-61 นี้ออกมา และนำไปทำการตกผลึกโปรตีน เมื่อได้ผลึกโปรตีนแล้ว นำไปหาโครงสร้างสามมิติ ที่ระบบลำเลียงแสงที่ 7.2W: MX โดยการใช้แสงซินโครตรอน จากโครงสร้างสามมิติของโปรตีนนั้น พบว่า EuRP-61 ประกอบไปด้วย 3 ส่วน (domain) คือ Catalytic domain, PA domain และ Fn3-like domain ซึ่งโครงสร้างสามมิติที่ได้นั้นช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของเอมไซม์ Serine protease นี้มากขึ้น สามารถนำไปพัฒนาและปรับปรุงสำหรับการใช้เป็นยาต่อไปในอนาคตได้
รูปผลึกโปรตีนของ Eu-RP61 และภาพแสดงการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ ที่ได้จากระบบลำเลียงแสงที่ 7.2W (MX)
รูปแสดงโครงสร้างสามมิติของโปรตีน EuRP-61 ซึ่งประกอบด้วย Catalytic, PA และ Fn-3 domain รวมถึงแสดงการเชื่อมต่อกับน้ำตาลที่ตำแหน่งของกรดอะมิโน แอสพาราจีน (Asparagine) ซึ่งพบมากในกลุ่มของไกลโคโปรตีน
เรียบเรียงโดย
ดร.รัตนา เจริญวัฒนาเสถียร นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง
ข้อมูลเพิ่มเติม