มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแมนเทิลเซลล์เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงและรักษาไม่หายขาด อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยจัดอยู่ในเกณฑ์ต่ำและมีโอกาสเกิดโรคกลับซ้ำสูงถึงร้อยละห้าสิบ ถึงแม้ยาบอร์ทิโซมิบ (Bortezomib) เป็นยาที่ได้รับการรับรองจากสำนักคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองแมนเทิลเซลล์โรคกลับซ้ำหรือภาวะโรคดื้อยา อย่างไรก็ตามผู้ป่วยกว่าครึ่งหนึ่งกลับไม่ตอบสนองต่อยาตั้งแต่แรกเริ่มหรือภายหลังจากการใช้ยาไประยะหนึ่ง ดังนั้นการศึกษากลไกเซลล์มะเร็งดื้อยาบอร์ทิโซมิบจึงเป็นพื้นฐานสำคัญในที่จะเข้าใจกลไกทางชีวโมเลกุลของการดื้อยาของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ดร.ภญ.สุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ และทีมนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับดร. กาญจนา ธรรมนู นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้ร่วมมือกันศึกษากลไกการเปลี่ยนแปลงทางสารชีวโมเลกุลโดยใช้เทคนิค Synchrotron-based Fourier transform infrared microspectroscopy (SR-IR) ณ ระบบลำเลียงแสง BL 4.1: IR Spectroscopy and Imaging การใช้แสงอินฟราเรดจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่มีขนาดเล็กและความเข้มสูง ทำให้สามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสารชีวโมเลกุลในระดับเซลล์ได้ ซึ่งการใช้เทคนิค SR-IR microspectroscopy ที่ BL4.1 IR Spectroscopy and imaging ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนนั้น ทำให้สามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงได้อย่างแม่นยำกว่าการใช้แสงจากแหล่งกำเนิดโดยทั่วไป อีกทั้งเทคนิคนี้มีการเตรียมตัวอย่างที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆในการเตรียมตัวอย่าง จากผลการทดลองพบว่าเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดแมนเทิลเซลล์ที่ดื้อยาบอร์ทิโซมิบมีการสะสมของโมเลกุลไขมันที่ผิดปกติ อันเนื่องมาจากการแสดงออกของโปรตีนตัวรับไขมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการดื้อยาบอร์ทิโซมิบ องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษานี้สามารถนำไปเป็นแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแมนเทิลเซลล์แบบมุ่งเป้าได้ โดยที่ถ้าสามารถยับยั้งการทำงานของตัวรับไขมันควบคู่กับการใช้ยาบอร์ทิโซมิบช่วยลดปัญหาการดื้อยาได้ ซึ่งงานวิจัยนี้สามารถแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนมาใช้ในงานวิจัยด้านมะเร็ง ซึ่งจากการค้นพบนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญ การพัฒนาประสิทธิภาพการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้
ภาพที่ 1
PCA score plot ของ ตัวอย่าง J/Parent เซลล์มะเร็งที่ตอบสนองต่อยา เปรียบเทียบกับ เซลล์มะเร็งดื้อยา J/250R และ J/500R
ภาพที่ 2
แสดงสปคตรัมของตัวอย่าง J/Parent เซลล์มะเร็งที่ตอบสนองต่อยา เปรียบเทียบกับ เซลล์มะเร็งดื้อยา J/250R และ J/500R
ภาพที่ 3
แสดงรูปย้อมไขมันในเซลล์มะเร็งดื้อยา