Picture3
รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยือนสถาบันวิจัยประยุกต์เซี่ยงไฮ้ (SARI) สังกัดสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) เมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา


โอกาสนี้ ศ.เจ้า เจิ้นถัง (Prof. Zhao Zhentang) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิจัยแสงซินโครตรอนเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Synchrotron Radiation Facility) SSRF และนักวิชาการด้านวิศวกรรมของสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ศ.ไถ่ เหรินจง (Prof. Tai Renzhong) รองประธาน SARI และผู้ช่วยผู้อำนวยการ SSRF ศ.เจียง เปียว (Prof. Jiang Biao) ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือนวัตกรรม (กรุงเทพ) ผู้ทรงเกียรติแห่งสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน มร.หยาง เหวินจ้าน (Mr. Yang Wenzhan) เจ้าหน้าที่โครงการจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเขตปกครองพิเศษเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ได้ให้การต้อนรับคณะจากประเทศไทย

 

คณะผู้ทรงเกียรติจากไทยพร้อมด้วยคณะนักวิทยาศาสตร์จีนได้เยี่ยมชมวงกักเก็บอิเล็กตรอนและสถานีทดลอง 2 สถานีของห้องปฏิบัติการ SSRF ได้แก่ สถานีเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านรังสีเอกซ์พลังงานต่ำแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Soft X-ray Free Electron Laser) และการทดสอบห้องคลื่นวิทยุแบบตัวนำยิ่งยวดสำหรับสถานีเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านรังสีเอกซ์พลังงานสูงแห่งเซี่ยงไฮ้


ระหว่างการเยี่ยมชม ศ.ไถ่ เหรินจง ได้เป็นตัวแทนสถาบัน SARI ในการต้อนรับ รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ และคณะ พร้อมแนะนำประวัติความเป็นมาและแนวทางการวิจัยของสถาบัน SARI และยังคาดหวังว่าจะยกระดับความเข้าใจระหว่างสองฝ่ายผ่านการเยี่ยมชมซึ่งกันและกัน รวมถึงการสนับสนุความร่วมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย ขณะที่ ศ.เจ้า เจิ้นถัง นำเสนอรายงานและให้รายละเอียดเรื่องการดำเนินงานและความสำเร็จในการค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์ของ SSRF รวมถึงภาพรวมความร่วมมือระหว่างจีนและไทยในเรื่องเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน

 

ในช่วงท้ายของการหารือ รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ ได้แสดงความยินที่ได้รับการต้อนรับจาก SARI และจากการเยี่ยมชมครั้งนี้ทำให้ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งในความร่วมมืออย่างหลากหลายทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างจีนและไทย โดยจะเดินหน้าสนับสนุนให้มีการเยี่ยมเยือนระหว่างสองฝ่าย และจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อไป