ดร. สมชาย ตันชรากรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (กิจการพิเศษ) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน นำทีมนักวิทยาศาสตร์และทีมความร่วมมือระหว่างประเทศร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เป็นเจ้าภาพในการจัด“การประชุมคณะกรรมการบริหารเครือข่าย ASEAN Large Nuclear and Synchrotron Facilities Network (LNSN) ครั้งที่ 1”
(The 1st Governing Council Meeting of ASEAN Large Nuclear and Synchrotron Facilities Network) เมื่อวันที่ 21 - 22 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุม Kappa โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร การประชุมคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่ 1 เครือข่าย ASEAN LNSN นี้ จัดขึ้นหลังจากที่เครือข่ายได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN Committee on Science and Technology – COST) ในการประชุมครั้งที่ 73 เมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคม 2560 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียนในการใช้ประโยชน์เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน และเตาปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย เพื่องานวิจัยและการพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจาก 10 ประเทศในอาเซียน จำนวน 16 ท่าน เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนหลักและผู้แทนรอง โดยที่ประชุมได้มีการเลือกตั้งประธาน รองประธาน และเลขานุการ ของคณะกรรมการบริหารเครือข่าย ซึ่งผู้แทนจากประเทศไทย คือ ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่าย นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เลือกรองประธานฯ คือ Mr. Heru Umbara ผู้อำนวยการ ของ Center for Siwabessy Multipurpose Reactor PRSG-Batan องค์กรพลังงานนิวเคลียร์แห่งชาติสาธารณรัฐอินโดนีเซียโดยผู้แทนจาก สซ. และ สทน. ได้รับความเห็นชอบให้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการบริหาร นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและหารือวาระสำคัญต่างๆ เช่น การจัดทำแผนสร้างความร่วมมือในการแบ่งปันการใช้ประโยชน์เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน เตาปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย และเครื่องมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการวิจัยร่วม การพัฒนาบุคลากร การแบ่งปันกิจกรรมวิชาการต่างๆ เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ การฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น รวมทั้งการร่วมกันแสวงหาทุนวิจัยต่างๆ ในนามของเครือข่าย LNSN
ผลที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการผนึกกำลังครั้งสำคัญของหน่วยงาน ด้านเทคโนโลยีซินโครตรอน นิวเคลียร์ และด้านอื่นที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคอาเซียนในการร่วมแบ่งปันเครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ ความรู้ ตลอดจนร่วมกันพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และจะเป็นก้าวแรกของการเดินไปด้วยกันเพื่อการพัฒนางานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน ดั่งคำขวัญของอาเซียนที่ว่า “One Vision, One Identity, One community”