สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมค่ายซินโครตรอน เพื่อครูวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 21 – 24 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยาม สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2562 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้รับเกียรติจาก ศาสาตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการ เป็นประธานในการเปิดกิจกรรม ค่ายซินโครตรอน เพื่อครูวิทยาศาสตร์ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมให้ครูวิทยาศาสตร์ไทยระดับมัธยมศึกษา ได้มีโอกาสเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่างๆ เข้าด้วยกัน นอกจากนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนให้เป็นที่รู้จักและนำความรู้ที่ได้รับนี้ไปเผยแพร่ให้แก่เยาวชน และประชาชน รวมถึงเปิดโลกทัศน์ของครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ไปสู่การศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ระหว่างครูวิทยาศาสตร์กับนักวิทยาศาสตร์ของซินโครตรอน
ตลอดระยะเวลา 4 วันของการจัดกิจกรรม เริ่มด้วยการแนะนำเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และการใช้ประโยชน์ในงานวิจัยด้านต่างๆ จากการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Accelerator and Production of Synchrotron Light” โดย ดร.ฐาปกรณ์ ภู่ลำพงษ์ รักษาการหัวหน้าส่วนพลศาสตร์และอุปกรณ์ลำอนุภาค และ “Beamlines at Siam Photon Laboratory” โดย ดร.ชนรรค์ เอื้อรักสกุล ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายสถานีวิจัย และการบรรยายจากวิทยากรพิเศษ อาทิ รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์จากภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังแห่งยุคดิจิทัล ที่ให้เกียรติมาบรรยายให้หัวข้อ “ปลูกปัญญาวิทย์” และ คุณครู ดร.สิทธิศักดิ์ จินดาวงศ์ จากโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ระดับมัธยมศึกษา ประจำปี 2561 จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ยังมี คุณครูณัฐวินทร์ โช จากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ. ระยอง และคุณครูศรุตยา ลุนสะแกวงษ์ จากโรงเรียนตราษตระการคุณ จ.ตราด ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ครูตัวแทนประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการครูฟิสิกส์ภาคฤดูฟิสิกส์ CERN อีกด้วย
ค่ายซินโครตรอน เพื่อครูวิทยาศาสตร์ยังได้นำคณะครูผู้เข้าร่วมกิจกรรม ศึกษาดูงานนอกสถานที่ ณ โรงจัดการขยะแบบครบวงจร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน) รวมถึงจัดกิจกรรมสันทนาการ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ทำความรู้จักระหว่างผู้เข้าร่วมก่อนเข้าสู่กิจกรรมกลุ่ม ต่อไป
และในส่วนของการทำภาคปฏิบัติ ได้มีการแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อทำการทดลอง ณ สถานีทดลองต่างๆ ภายในห้องปฏิบัติกรแสงสยามในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ การระบุอัตลักษณ์ของแร่ด้วยเทคนิคการเลี้ยวเบนด้วยรังสีเอกซ์ การวิเคราะห์ความพรุนในกระดูกแบบสามมิติ การศึกษาขนาดของอนุภาคนาโน การตรวจสอบวัสดุสร้างพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ด้วยเทคนิคการวัด การดูดกลืนรังสีเอกซ์ การวิเคราะห์โครงสร้างของเซลล์พืชและเซลล์สัตว์โดยใช้เทคนิค IR microspectroscopy การศึกษาเลขออกซิเดชั่นของธาตุเหล็กในสารประกอบไอออนิก การศึกษาการสะสมธาตุอาหารในเอนโดสเปิร์มของเมล็ดข้าวโพด การศึกษาโครงสร้างสามมิติของโปรตีนไลโซไซม์จากไข่ขาว และ เครื่องเร่งอนุภาค เป็นต้น จากประสบการณ์ค่ายซินโครตรอนเพื่อครูวิทย์ฯ ครั้งนี้ คณะครูผู้เข้าร่วมกิจกรรม ต่างให้ความสนใจและจะนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแสงขั้นสูง ไปถ่ายทอดให้กับนักเรียน เพื่อเป็นการกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้พัฒนาตนเองไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ต่อไป