COVID Herb Rev1 copy

ทีมวิจัยศึกษาสมุนไพรต้านโควิด-19 จากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มหิดล และ มทส. 

นอกจากวัคซีนและยาเคมีแผนปัจจุบันจะจำเป็นต่อการรับมือการระบาดของโควิด-19 แล้ว การใช้สมุนไพรก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายและยังลดผลการเกิดผลข้างเคียงจากยาเคมีได้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จึงได้สนับสนุนงบประมาณปี พ.ศ.2563 ให้นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ นำโดย ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช พร้อมด้วย ดร.สุกัญญา ไชยป่ายาง, ดร.วรวิกัลยา เกียรติ์พงษ์ลาภ, ดร.ศิริวรรณ ณะวงษ์ และนางสาวบุษยารัตน์ ไม​ขุนทด สกัดและทดสอบประสิทธิภาพของสมุนไพรจำนวน 23 ชนิด ที่ผ่านการคัดเลือกจากการทบทวนบทความทางวิชาการที่รายงานถึงฤทธิ์สมุนไพรเหล่านั้นในการต้านเชื้อไวรัสหลากหลายสายพันธุ์

 

ผลการทดสอบการออกฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพรในการต้านไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร ที่มีโครงสร้างอนุภาคและโปรตีนหนาม (Spike) คล้ายเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคโควิด-19 พบว่า ภายในระยะเวลาสัมผัสไวรัสเพียง 5 นาที มีสมุนไพร 8 ชนิดที่มีประสิทธิภาพต้านการเพิ่มจำนวนของไวรัสโคโรนาก่อโรคท้องร่วงในสุกร สารสกัดบางชนิดมีประสิทธิภาพสูงในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในระดับเซลล์ไลน์ และสารสกัดบางชนิดยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย

 

Department of Microbiology and Immunology Page 06

 ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาของภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

ล่าสุด สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยต่อยอดงานวิจัยข้างต้น เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดสมุนไพรทั้ง 8 ชนิดในการออกฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยงานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ซึ่งขณะนี้งานวิจัยอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดสมุนไพรต่อการต้านเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นขั้นตอนการทดลองที่มีความเสี่ยงสูง โดย รศ.ดร.พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ จากภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อกนิษฐ์ จิตต์มิตรภาพ และนายนรินทร์ ทิพย์พรชัย ต้องทดสอบภายในห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับที่ 3 (Bio Safety Level 3) เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการทดสอบ

 

Synchrotron IR Spectroscopy

 ระบบลำเลียงแสง 4.1 ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ที่ใช้ศึกษาสมุนไพรต้านโควิด

ขั้นตอนต่อไปคือการศึกษากลไกของสมุนไพรในการต้านเชื้อไวรัส โดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจะใช้เทคนิคจุลทรรศน์อินฟราเรดจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ติดตามการเปลี่ยนแปลงสารชีวโมเลกุลระดับเซลล์ เพื่อศึกษากลไกการออกฤทธิ์การต้านไวรัสของสารสกัดสมุนไพร รวมทั้งใช้เทคโนโลยีโอมิกส์ติดตามการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนและสารโมเลกุลขนาดเล็กภายในเซลล์ ด้าน รศ.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง จากสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มทส. จะถอดรหัสการแสดงออกของเซลล์ระดับยีน ซึ่งข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจะเป็นข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน นำไปสู่ความเข้าใจในกลไกของสมุนไพรในการต้านเชื้อไวรัสได้ สุดท้าย งานวิจัยนี้จะนำไปสู่การพิจารณาการใช้ยาสมุนไพรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยในการใช้งานจริง และเป็นแนวทางในการต่อยอดพัฒนาเป็นยาสมุนไพรที่ปลอดภัยและเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทยเพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ในอนาคตต่อไป

 

บทความโดย ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง