กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) นำเสนองานวิจัยด้านฟิสิกส์ประยุกต์ในการประชุมวิชาการฟิสิกส์ระดับชาติ ครั้งที่ 19 พร้อมโชว์ผลงานการพัฒนาแม่เหล็กต้นแบบชุดล่าสุดสำหรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ โอกาสนี้ “รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ” ประธานกรรมการบริหาร สซ. ได้บรรยายพิเศษโครงสร้างแผนที่สมองสามมิติโดยใช้แสงซินโครตรอนด้วยเทคนิคเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ
สถาบันแสงซินโครตรอนได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการฟิสิกส์ระดับชาติ ครั้งที่ 19 ประจำปี 2567 (SPC 2024) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.อยุธยา โดยความร่วมมือระหว่างสมาคมฟิสิกส์ไทย กับภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งการประชุมวิชาการนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักฟิสิกส์ของประเทศเน้นสร้างนวัตกรรมทางฟิสิกส์ และนำไปใช้ให้สอดคล้องกับสังคมของประเทศอย่างสร้างสรรค์
ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้นำเสนอผลงานวิชาการ อาทิ การศึกษาและพัฒนาระบบวัดอัตราการสูญเสียลำอิเล็กตรอนในวงกักเก็บอิเล็กตรอนสำหรับเครื่องกำเนิดแสงสยาม ซึ่งเป็นการติดตั้งอุปกรณ์และทดสอบสำหรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องปัจจุบัน และจะได้นำไปต่อยอดพัฒนากับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่พลังงาน 3 GeV ในอนาคต, การศึกษาผลของกระแสไฟฟ้าไหลวนและการซึมซาบแม่เหล็กของท่อสุญญากาศต่อสนามแม่เหล็ก ในเครื่องเร่งอนุภาคแนววงกลม ของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ และการออกแบบความปลอดภัยด้านรังสี สำหรับระบบลำเลียงแสงที่ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มพลังงานของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่
สถาบันฯ ยังได้จัดแสดงแม่เหล็กต้นแบบชุดใหม่สำหรับเครื่องเร่งอนุภาคแนววงกลมของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV จำนวน 3 ตัว ได้แก่ 1. แม่เหล็กสี่ขั้วชนิด QD 2. แม่เหล็กหกขั้วชนิด SF/SD และ 3. แม่เหล็กสี่ขั้วผสมหกขั้วชนิด QF โดยแม่เหล็กดังกล่าวจะถูกจัดเรียงในพิกัดตำแหน่งที่เหมาะสมในวงโคจรของเครื่องเร่งอนุภาคแนววงกลม เพื่อให้สามารถควบคุมคุณลักษณะของลำอิเล็กตรอนให้เป็นไปตามที่กำหนด ในขณะที่เร่งพลังงานของลำอิเล็กตรอนขึ้นไปเป็น 3 GeV ได้ โดยแม่เหล็กต้นแบบนี้เป็นผลงานของสถาบัน ฯ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ทางวิชาการ และกระบวนการผลิต แก่ภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่สองของประเทศไทยที่จะผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่สำคัญภายในประเทศให้ได้ถึง 50%
โอกาสนี้ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ในคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “SYNAPSE 3D Human Brain Imaging (Synchrotron XTM)” เกี่ยวกับโครงสร้างแผนที่สมองสามมิติโดยใช้แสงซินโครตรอนด้วยเทคนิคเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ ซึ่งเป็นความร่วมมือของประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกที่จะใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนพัฒนาแผนที่สมองสามมิติ เพื่อการรักษาโรคทางสมองบางชนิด การประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และอื่นๆ ต่อไป