.
กระทรวง อว. เดินหน้ายกระดับอาหารพื้นถิ่น และอาหารฟังก์ชั่น สู่นวัตกรรมอาหารปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี เพื่อเพิ่มโอกาสการตลาด ผ่านความร่วมมือ 5 หน่วยงานหลัก นำโดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. พร้อมด้วยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ สซ. และ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ได้แก่ มรภ.เลย มรภ.ชัยภูมิ และ มรภ.มหาสารคาม
.
วันที่ 27 ม.ค.68 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์” ภายใต้แนวคิด “ฉายรังสีปลอดภัย อาหารพื้นถิ่นปลอดโรค” ปี 2568 ณ อาคารพระจอมเกล้า ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. ดร.สุพัฒน์ กลิ่นเขียว รองผู้อำนวยการปฏิบัติการเครื่องกำเนิดแสงสยาม 1 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน), รศ.สมเจตน์ ดวงพิทักษ์ อธิการบดี มรภ.เลย, ผศ. ดร.สานนท์ ด่านภักดี อธิการบดี มรภ.ชัยภูมิ และ ดร.เนตรชนก จันทร์สว่าง ผู้รักษาการแทนอธิการบดี มรภ.มหาสารคาม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สทน. สซ. และ มรภ. เข้าร่วมงาน
.
รมว.อว. เปิดเผยว่า “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกระทรวงที่ดูแลและขับเคลื่อนองค์ความรู้ของประเทศ ทั้งการพัฒนากำลังคนขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา การนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ และการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในการขับเคลื่อนการวิจัย การลงนามความร่วมมือของทั้ง 5 องค์กรนี้ เป็นโอกาสดีในการที่องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และภาคการศึกษาได้มาสนับสนุนซึ่งกันและกัน สิ่งที่อยากจะมุ่งเน้น คือ การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งจะต้องพึ่งพาข้อมูล ความรู้ และวิทยาการด้วยอย่างมาก เช่น เทคโนโลยีนิวเคลียร์ซึ่งหลายท่านอาจจะมองว่าไกลตัว แต่ก็สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการได้ โดย อว. จะส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า สนับสนุนความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยให้การสนับสนุน การรวมตัวในการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง เพื่อเพิ่มมูลค่าและต่อยอดผลิตภัณฑ์ได้อย่างยั่งยืน”
.
สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ทุกหน่วยงานจะทำงานร่วมกันทั้งในเรื่องการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ การสร้างการยอมรับเรื่องประโยชน์ของการฉายรังสี และประสานงานอำนวยความสะดวก ในการส่งผลิตภัณฑ์เพื่อมาฉายรังสี รวมทั้งมีการใช้พื้นที่และทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาตัวสินค้า จนสามารถขยายไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ
.
ทั้งนี้มีผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ “การสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น และอาหารฟังก์ชัน ด้วยการฉายรังสีอาหาร” รวมทั้งสิ้น 786 ผลิตภัณฑ์ โดยแบ่งเป็นจากภาคกลาง 179 ผลิตภัณฑ์, ภาคใต้ 122 ผลิตภัณฑ์, ภาคเหนือ 131 ผลิตภัณฑ์ และภาคอีสาน 354 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเพียง 266 ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดเลือก แบ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นจำนวน 251 ผลิตภัณฑ์ และอาหารฟังก์ชันจำนวน 15 ผลิตภัณฑ์
เครดิตภาพและข่าว : สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)