363444

 

          สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) พัฒนาโรงเรือนอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) สำหรับเกษตรกรบนพื้นที่สูง โดยมีโครงการนำร่อง การพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาการเพาะปลูกที่ให้ผลผลิตทางการเกษตรต่ำ รายได้ไม่เพียงพอกับค่าจ่าย มีการใช้สารเคมีมาก และขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกพืชและการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง โครงการนำร่องนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาปรับเปลี่ยนระบบเพาะปลูกให้ง่ายขึ้นด้วย Smart Farming Technology ลดการใช้สารเคมี ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และยังคงรักษาคุณภาพผลผลิตเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ

           เพื่อให้การทำเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงที่มีพื้นที่จำกัดเกิดประโยชน์สูงที่สุด การพัฒนาเกษตรกรรมในรูปแบบโรงเรือนจึงเป็นทางเลือกที่นำมาปรับใช้ โดยสามารถออกแบบให้ควบคุมและป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate change) เช่น อุณหภูมิ ฝน ลม และความชื้นได้เป็นอย่างดี โดยพืชที่เลือกศึกษาคือเมล่อน เนื่องจากใช้พื้นที่น้อย ดูแลง่าย ให้ผลตอบแทนสูง โดยการทำโรงเรือนแบบดั้งเดิม จะเป็นการใช้ระบบ Manual ควบคุมการให้น้ำและปุ๋ยโดยสังเกตจากลักษณะภายนอกของพืช ดิน และสภาพอากาศ แต่ในความเป็นจริงนั้น หลักการของการควบคุมปริมาณน้ำตามความต้องการของพืชมีความสัมพันธ์กับ อุณหภูมิ ฝน ลม ความเข้มแสง และความชื้นในดิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการวางแผนการเพาะปลูกและการเลื่อกใช้สารเคมีเพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพตามที่ต้องการ

          จากการศึกษาข้อมูลข้างต้น สถาบันฯ จึงได้พัฒนาโรงเรือนอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) ด้วยการ บูรณาการองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและวิศวกรรมของสถาบันฯ ร่วมกับสหสาขาวิชา (Multidisciplinary) ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบประมวลผลปัจจัยที่พืชต้องการแบบอัตโนมัติ จากข้อมูลทางสถิติที่นำมาใช้เป็นฐานข้อมูล ได้แก่ 1.ข้อมูลทางสถิติที่ได้จากการเก็บข้อมูลของ sensor 2.ข้อมูลของเจ้าหน้าที่หรือเกษตรกร 2. ข้อมูลจากผู้ชำนาญการการปลูกเมล่อน โดยออกแบบระบบให้สามารถประมวลผลข้อมูลทั้ง 3 ส่วนเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ Predictive Model โดยใช้เงื่อนไขจากอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ความชื้นในดิน และความเข้มแสง มาวิเคราะห์ประกอบและแสดงผลออกมาเป็นการคาดการณ์ปัจจัยที่พืชต้องการในการเพาะปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และใช้ทรัพยากรในการเพาะปลูกให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด

 

12   

 

          นอกจากการสร้างระบบโรงเรือนอัจฉริยะ สถาบันฯ ได้มีแผนการพัฒนาต่อยอดไปสู่การสร้างระบบควบคุมการเพาะปลูกในโรงเรือนด้วยการแสดงผลและสั่งการแบบ Real Time ผ่าน Application บน Mobile Smart phone เพื่อให้เกษตรกรสามารถรับทราบถึงปัญหาและตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที

          จากความสำเร็จในการริเริ่มให้เกษตรกรในพื้นที่นำร่องทดลองปลูกเมล่อนในระบบโรงเรือนอัจฉริยะใน        ปี 2562 จำนวน 7 ราย พบว่า ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพสูงในขณะที่ต้นทุนน้อยลง สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร         กว่า 200,000 บาท เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต้นแบบโรงเรือนแบบอัจฉริยะที่สามารถควบคุมปัจจัยที่พืชต้องการได้ โดยเป็น Best practice จากการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ ที่สนับสนุนให้เกิดเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางด้านการผลิตที่มีผลิตภาพสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนเพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรได้ตรงความต้องการอย่างแท้จริง

 

1 1 1 2