Pilot Plant เพอสรางเครองกำเนดแสงซนโครตรอ

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กำลังดำเนินการโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV ซึ่งเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่ของไทย โดยได้พัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ระบบสุญญากาศ ระบบแม่เหล็ก ระบบปรับแต่งพิกัดเชิงกลความแม่นยำสูง ระบบควบคุม เป็นต้น เพื่อใช้กับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่นี้ และในอนาคตจะพัฒนาต่อยอดไปสู่ระดับการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ร่วมกับภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งสถาบันฯ มีเป้าหมายที่จะผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ ในประเทศไทยให้ได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และทำให้อุปกรณ์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทยนั้นนำมาใช้งานกับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV ได้

 

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สถาบันฯ จึงริเริ่มโครงการก่อสร้างอาคารประกอบและทดสอบ (Pilot Plant) สำหรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 150,000,000 บาท โดยได้รับความอนุเคราะห์อนุมัติให้ใช้พื้นที่ในการจัดสร้างจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นการสร้างร่วมมือกับ สำนักงานปลัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

Pilot Plant 2

อาคารดังกล่าวจะใช้ดำเนินงานการผลิต ประกอบ และทดสอบ อุปกรณ์ต้นแบบ ซึ่งจะเป็นสถานที่ในการรองรับงานวิจัย ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนในงานวิจัยประยุกต์ทางด้านเกษตร อาหาร และอุตสาหกรรม สำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการในการวิจัย พัฒนา และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งพัฒนานักศึกษาและบุคลากรของทั้งสามฝ่าย โดยการส่งเสริมการฝึกทักษะการทำงานให้นักศึกษาหรือบุคลากรระหว่างกัน รวมทั้งการสนับสนุนทรัพยากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สำหรับใช้ในการดำเนินงาน ภายใต้บันทึกข้อตกลงร่วมกัน

 

ในอนาคตหลังจากสถาบันฯ ได้ทดสอบอุปกรณ์ต้นแบบสำเร็จแล้ว จะได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมไทย นับเป็นการยกระดับขีดความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมของบุคลากรภายในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอนขั้นสูง ก่อให้เกิดนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่ สร้างระบบนิเวศน์การวิจัยให้เกิดขึ้นในวงการวิจัยและพัฒนาประเทศ รวมทั้งได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม ยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเพิ่มผลิตภาพในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมของตนเองได้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

 

บทความโดย

มาลี อัตตาภิบาล ผู้จัดการทั่วไปและประสานงานโครงการ