facebook template

ระบบสุญญากาศเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการผลิตแสงซินโครตรอน แต่ “ความชื้น” เป็นอุปสรรคในการสร้างสภาวะสุญญากาศ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจึงมีกระบวนการอบไล่ความชื้น เพื่อสร้างสภาวะสุญญากาศในท่อหรือห้องสุญญากาศ (vacuum chamber) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้ต้องทำหลังการประกอบหรือซ่อมบำรุงระบบสุญญากาศของเครื่องเร่งอนุภาคและระบบลำเลียงแสงซินโครตรอน

ในระหว่างการอบไล่ความชื้นจำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิของท่อหรือห้องสุญญากาศให้ได้ตามค่าที่กำหนดไว้ หากอุณหภูมิสูงเกินไปอาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ท่อหรือห้องสุญญากาศได้ ในทำนองกลับกันหากอุณหภูมิต่ำเกินไปอาจยังคงมีความชื้นหรือก๊าชหลงเหลือตกค้างอยู่ในท่อหรือห้องสุญญากาศส่งผลให้ระดับสุญญากาศไม่เป็นไปตามที่ต้องการ

 

ก่อนหน้านี้การควบคุมอุณหภูมิในระหว่างการอบไล่ความชื้นระบบสุญญากาศจำเป็นต้องมีวิศวกรหรือช่างเทคนิคเป็นผู้ควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องจดบันทึกอุณหภูมิของท่อหรือห้องสุญญากาศตามระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างใกล้ชิด ส่วนระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันฯ จึงได้ปรับปรุงและพัฒนาชุดควบคุมอุณหภูมิการอบไล่ความชื้นระบบสุญญากาศแบบอัตโนมัติขึ้นใหม่ ให้สามารถควบคุมและแสดงผลอุณหภูมิผ่านทางโทรศัพท์มือถือและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้

 

Picture3

ส่วนประกอบของระบบควบคุมอุณหภูมิการอบไล่ความชื้น

 

 

                                                       Picture1 Picture2                

การควบคุมและแสดงผลอุณหภูมิผ่านโทรศัพท์มือถือและเครือข่ายคอมพิวเตอร์              


ชุดควบคุมอุณหภูมิฯ นี้จึงช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ปฏิบัติงาน ในการตรวจสอบและบันทึกอุณหภูมิการอบไล่ความชื้นระบบสุญญากาศได้เป็นอย่างดี การพัฒนาระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จึงมีบทบาทสำคัญเพื่อสนับสนุนการทำงานของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ซึ่งชุดควบคุมอุณหภูมินี้ยังนำไปประยุกต์กับเทคโนโลยีอื่นๆ ได้ อาทิ เทคโนโลยีเตาเชื่อมโลหะต่างชนิดแบบไร้ตะเข็บในภาวะสุญญากาศ ที่พัฒนาเป็นนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ เช่น การเชื่อมประสานวัสดุคมให้ติดกับด้ามจับ การเชื่อมประสานท่อน้ำยาคอมเพรสเซอร์ในระบบปรับอากาศ งานเชื่อมต่อท่ออลูมิเนียมบางๆ หรือประยุกต์ใช้ชุดควบคุมอุณหภูมินี้กับเตาเพื่อการเชื่อมแล่นประสานโลหะในภาวะสุญญากาศ (เตาเบรซิ่ง) ซึ่งช่วยให้สถาบันฯ ลดการจัดหาครุภัณฑ์จากต่างประเทศได้ และช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้ถึง 18 ล้านบาท

 

 

บทความโดย

นายสุรพงษ์ กกกระโทก วิศวกรไฟฟ้า

นายกันตภณ พิมล วิศวกรไฟฟ้ากำลัง