ซินโครตรอน เดินหน้าเครื่องซินโครตรอนเครื่องใหม่ ระดับพลังงาน 3 GeV เป็นศูนย์กลางวิจัยด้านแสงซินโครตรอนชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในอนาคต มุ่งเน้นงานวิจัยด้านการแพทย์ – เกษตร – อุตสาหกรรม และอื่น ๆ ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก: EECi
“เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน” ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญและได้รับการยอมรับจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้เป็นเครื่องมือที่มีพลานุภาพซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์มากมายมหาศาลต่องานวิจัยทางด้านการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และด้านอื่น ๆ เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านเศรษฐกิจ สังคม การพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นต้น
โดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่จะจัดสร้างใหม่ มีค่าระดับพลังงาน 3 GeV ขนาดเส้นรอบวงประมาณ 321.3 เมตร โดยใช้เทคโนโลยี Double Triple Bend Achromat (DTBA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยนี้จะส่งผลให้แสงซินโครตรอนที่ได้มีความสว่างจ้าของแสงมากกว่าเดิม 1 ล้านเท่า รวมถึงสามารถรองรับระบบลำเลียงแสงได้สูงถึง 22 ระบบ จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางงานวิจัยได้หลากหลาย สถานที่ตั้งที่เหมาะสมทางยุทธศาสตร์ของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนั้น จะตั้งอยู่ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) จังหวัดระยอง
ด้วยเหตุผลทางด้าน
(1) ความมั่นคงทางธรณีวิทยา
(2) การเข้าถึงในแง่ของระบบขนส่งมวลชนและการคมนาคม
(3) ความใกล้เคียงกับเขตอุตสาหกรรม
(4) ความใกล้เคียงกับสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัย
(5) ความร่วมมือและการร่วมทุนฯ
ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นการผลักดันการลงทุนขนาดใหญ่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว และก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วยกระดับไปสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” อย่างมั่นคงยั่งยืน
![]() |
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า โครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV โดยสถาบันวิจัยแสซินโครตรอน (องค์การมหาชน) นี้ จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่เป็นบวกต่อประเทศ ซึ่งได้แก่ การสร้างคน สร้างงาน สร้างอาชีพ ตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างเครื่องฯ การออกแบบ การผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ตลอดจนการดำเนินงานโครงการ นอกจากนี้เมื่อโครงการแล้วเสร็จสามารถให้บริการแก่ภาคเอกชนได้ อันจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกไม่น้อยกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท |
ซึ่งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV รองรับกลุ่มงานวิจัย เช่น
ด้านการแพทย์ | อุตสาหกรรมวัสดุขั้นสูง | ||
---|---|---|---|
![]() |
การศึกษาโครงสร้างของโปรตีน ไวรัส และเอนไซม์เพื่อหากลไกของการติดเชื้อ นำไปสู่การออกแบบยารักษาโรคใหม่ ๆ ยกระดับความสามารถทางการแพทย์และเภสัชกรรม |
![]() |
ช่วยวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติตัวอย่างวัสดุภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ตอบสนองความต้องการในการทำวิจัย และพัฒนาของนักวิจัยวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีตสูตรใหม่ โลหะ และวัสดุคอมโพสิทชนิดใหม่ |
อาหารและการเกษตร | ด้านสิ่งแวดล้อม | ||
![]() |
ช่วยเพิ่มมูลค่าตั้งแต่การจัดการผลผลิต กระบวนการทางวิศวกรรมด้านการเกษตร การแปรรูปอาหาร การพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารไปจนถึงความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับแผนของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตร | ![]() |
ช่วยในการวิเคราะห์การปนเปื้อน ในสิ่งแวดล้อมได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างโรคพืช และโมเลกุลที่พืชดูดซึมเข้าไปได้ นำไปสู่การหาแนวทางป้องกันการเกิดโรคในพืช และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ |
ด้านโบราณคดี | |||
![]() |
ช่วยเพิ่มมูลค่าตั้งแต่การจัดการผลผลิต กระบวนการทางวิศวกรรมด้านการเกษตร การแปรรูปอาหาร การพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารไปจนถึงความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับแผนของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร และการเกษตร |
นอกจากนี้ เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่จะจัดสร้างในเขตนวัตกรรมในพื้นที่โครงการพิเศษภาคตะวันออกหรือ EECi มีระบบการจัดการความปลอดภัยที่ครอบคลุมในทุกด้าน โดยมุ่งเน้นไปที่การป้องกันอันตรายทางรังสีจากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยทางอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติตามตามกฎหมายและมาตรฐานสากลควบคู่กันไปอย่างเคร่งครัด
การป้องกันอันตรายทางรังสีจากการเดินเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนั้น เริ่มตั้งแต่การประเมินแหล่งต้นกำเนิดรังสีเพื่อนำไปสู่การออกแบบตัวกำบังรังสี ทั้งในอุโมงค์ที่ติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาค และในวงกักเก็บอิเล็กตรอนรวมทั้งในระบบลำเลียงแสงและสถานีทดลองด้วย สำหรับการออกแบบตัวกำบังทางรังสีจำเป็นต้องอาศัยผลจากการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ ประเมินประสิทธิภาพของตัวกำบังรังสีนั้นๆ ก่อนดำเนินการก่อสร้างจริง และการทดลองตรวจวัดรังสีในระหว่างที่มีทดสอบการเดินเครื่องในภายหลังต่อไป โดยอาศัยหลักการที่ให้ผู้ปฏิบัติงานทางรังสีและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้รับปริมาณรังสีให้น้อยที่สุด เป็นไปตามกฎหมายของไทยและมาตรฐานสากลของ IAEA ภายใต้การควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
จากการเดินเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา ผ่านมากว่า 20 ปี สถาบันมีเครื่องวัดรังสีประจำที่ และมีการติดตามการได้รับรังสีของผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งผู้มาใช้บริการภายนอก ไม่พบว่ามีผู้ใดได้รับรังสีเกินระดับเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย และที่สำคัญยิ่ง รังสีที่จากแสงซินโคร ตรอนเกิดนั้นไม่ได้เกิดจากการใช้สารรังสี หรือวัสดุกัมมันตภาพรังสี เช่น ยูเรเนี่ยมหรือ โคบอล์ท ที่เราเคยได้ยินได้ฟังจากภาพข่าวในอดีตแต่อย่างใด ซึ่งถ้าหากจะพูดให้เข้าใจได้ง่ายๆ คือ เมื่อใดที่ถอดปลั๊กไฟฟ้าของเครื่องกำเนิดแสงออกก็จะไม่มีรังสีปล่อยออกมาอีกเลย อีกทั้งชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่อาจปลดปล่อยรังสีจะถูกฝังไว้ใต้ดินอย่างมิดชิดตามหลักเกณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล ดังนั้นสถาบันมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนที่ปฏิบัติงาน ณ เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน รวมถึง ประชาชนและสิ่งแวดล้อม” โดยรอบของสถานที่ตั้งเครื่องกำเนิดแสงฯ ทั้งในนครราชสีมาและ EECi จ.ระยอง จะมีความปลอดภัยทั้งทางด้านความปลอดภัยทางรังสีและความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยอย่างแน่นอน
การจัดสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนบนพื้นที่ EECi นั้น สถาบันได้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว โดยได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ต.ป่ายุบ อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อให้ประชาชนที่อยู่โดยรอบ ได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับความเพียงพอของมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการต่อผู้พักอาศัยบริเวณโดยรอบโครงการในระยะก่อสร้างและระยะดำเนินโครงการอีกด้วย
ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV ในอีก 8 ปีข้างหน้า ถือเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยการใช้ความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เป็นปัจจัยขับเคลื่อนประเทศอย่างเข้มข้น การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ
อย่างมากมายและไม่หยุดยั้ง นำไปสู่การแก้ไขปัญหา ลดต้นทุน ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และเพิ่มศักยภาพให้ภาคการผลิต การบริการ รวมถึงภาคสังคมเพื่อมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อนำพาประเทศก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 เชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยศักยภาพและความพร้อมดังกล่าว ถือเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางวิจัยด้านแสงซินโครตรอนชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในอนาคต เทียบเคียงกับประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ สวีเดน เป็นต้น
ผู้ประสานงาน นางสาว มาลี อัตตาภิบาล
ผู้จัดการและประสานงานโครงการ
เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1245
โทรสาร 0-4421-7047
อีเมลล์: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
ผู้ประสานงาน นางสาวณัฐรดา กิตติวิริยกุล
เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป
เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1146
โทรสาร 0-4421-7047
อีเมลล์: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.