สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ร่วมกับ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือ สซ. ประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัยภายใต้ข้อตกลง MOU โดยร่วมอภิปรายการใช้กราฟีนในโลหะมีค่า การเพิ่มมูลค่าอัญมณีด้วยเครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้นและการวิจัยด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน พร้อมขยายผลสู่การวิจัยร่วมกันเพื่อเพิ่มมูลค่าอัญมณี
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ พร้อมคณะผู้บริหารและนักวิจัยของ GIT ได้ร่วมประชุมหารือการดำเนินโครงการวิจัย กับ ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ รองผู้อำนวยการปฏิบัติการและใช้ประโยชน์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมด้วยผู้บริหารและนักวิทยาศาสตร์ของ สซ. เมื่อวันพุธที่ 17 มกราคม 2567 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา
ในการประชุมหารือได้เปิดโอกาสให้นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีฯ และนักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนร่วมกันอภิปราย ในหัวข้อ
1. การใช้งานกราฟีนในโลหะมีค่า
2. การใช้เครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้นในการเพิ่มมูลค่าอัญมณี
3. การใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนในการวิจัยการเพิ่มมูลค่าอัญมณี
ผลจากการประชุมหารือครั้งนี้นักวิจัยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีฯ จะดำเนินการ
1. ศึกษาข้อมูลเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเพิ่มเติมเพื่อคิดโจทย์วิจัยให้ตอบสนองพันธกิจของการปรับปรุงและพัฒนาอัญมณี
2. ศึกษาเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเพื่อเตรียมยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอใช้บริการแสงซินโครตรอน ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
ส่วนนักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจะดำเนินการ ดังนี้
1.รวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น ข้อคำถาม ในด้านงานวิจัยของผู้เข้าร่วมการประชุมหารือจาก GIT เพื่อนำไปวิเคราะห์ และขยายผลเป็นงานวิจัยร่วมกันในเรื่องหลักคือ การปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพอัญมณีและโลหะมีค่า
2. สถาบันฯ จะพิจารณาการใช้เครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้นสนับสนุน GIT เท่าที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักของโครงการการพัฒนาเครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้นของสถาบันฯ
3. ให้คำแนะนำการเขียนข้อเสนอโครงการ และเปิดโอกาสในการใช้แสงซินโครตรอนเพื่อวิเคราะห์อัญมณี และเพิ่มมูลค่าอัญมณีด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน ในรอบการใช้แสงซินโครตรอนปีงบประมาณ 2567
สำหรับการประชุมหารือครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านการวิจัย พัฒนาเทคนิคกระบวนการตรวจสอบ กระบวนการปรับปรุงคุณภาพ อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า การสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการวิจัย การวิเคราะห์ ตรวจสอบ และทดสอบ การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ห้องปฏิบัติการ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย โดยใช้แสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนบุคลากร และการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัย เพื่อพัฒนาทักษะ ศักยภาพ และขีดความสามารถของนักวิจัยอันเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต