เทคโนโลยีในสาขาวัสดุศาสตร์ ด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อมถือได้ว่าเป็นสาขาที่จะกลายเป็นเทคโนโลยีหลักในการพัฒนาประเทศในระยะยาว สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จึงมีแนวทางการสนับสนุนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีในสาขานี้ด้วยการสร้างงานวิจัยและความร่วมมือเพื่อยกระดับงานวิจัยไทย
โดยล่าสุดทาง Nanyang Technological University (NTU) ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังด้านวิศวกรรมศาสตร์ระดับโลก ได้มีโครงการใหญ่ในการพัฒนานวัตกรรมแบตเตอรีชนิดลิเทียม ร่วมกับทาง University College of London (UCL) ประเทศอังกฤษและ Johnson Matthey บริษัทชั้นนำด้านพลังงาน โดยทาง NTU ได้มีโอกาสเข้ามาใช้แสงซินโครตรอน ณ ซินโครตรอน ไทยแลนด์ เซ็นทรัล แล็บ ในการวิเคราะห์ธาตุฟอสฟอรัสในแบตเตอรี ซึ่งต้องใช้การวัดค่าพลังงานต่ำด้วยแสงซินโครตรอนของไทยที่มีค่าพลังงานเหมาะสมและได้ผลลัพท์ที่สามารถนำมาอ้างอิงในงานวิจัยได้จริง ทาง NTU จึงได้เชิญให้นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ นำโดย ดร.พินิจ กิจขุนทด ผู้จัดการระบบลำเลียงแสง 5.2 บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับงแสงซินโครตรอน เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy หรือ XAS) ให้แก่นักวิจัยและนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอกจากภาควิชา Material Engineering ของ NTU ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมทั้งหารือความร่วมมือในการสร้างงานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์พลังงานร่วมกันในอนาคต รวมทั้งวางแผนจัดการอบรมระยะสั้นด้านแสงซินโครตรอนเทคนิค XAS เพื่อให้นักวิจัยและนักศึกษาของ NTU ได้เข้ามาใช้งานแสงซินโครตรอนในประเทศไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น
เทคนิค XAS เป็นการใช้วิเคราะห์ตัวอย่างสำหรับการศึกษาโครงสร้างสสารในระดับอะตอม สามารถวิเคราะห์สถานะทางเคมี และโครงสร้างโดยรอบของอะตอมที่สนใจได้ ไม่ว่าจะเป็น ความยาวพันธะ ลักษณะการจัดเรียงตัว หรือชนิดของอะตอมรอบข้าง โดยไม่ทำลายสารตัวอย่าง จึงเหมาะสมในการนำมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยได้หลายสาขา เช่น วัสดุศาสตร์ ชีววิทยา สิ่งแวดล้อม และโบราณคดี ทั้งยังสามารถวิเคราะห์สารตัวอย่างได้ทั้งในสภาวะของแข็งและของเหลวได้อีกด้วย