เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้จัดเวิร์คชอปการวิเคราะห์ข้อมูลจากเทคนิค XAS พร้อมทั้งแนะนำเทคนิค XPS ให้แก่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ได้แก่ คณาจารย์ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลุ่มผู้ใช้แสงซินโครตรอนจากสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ กว่า 60 คน ระหว่างวันที่ 10-11 ม.ค.66 ณ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
โอกาสนี้ ศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้เป็นประธานเปิดงาน และ ศ.ดร.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีและวิศวกรรมเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Bio-Circular-Green economy Technology & Engineering Center) หรือ BCGeTEC ได้กล่าวแนะนำศูนย์เทคโนโลยีดังกล่าวด้วย
สำหรับเทคนิค XAS (X-ray Absorption Spectroscopy) เป็นเทคนิคการตรวจสอบคุณสมบัติของสาร โดยอาศัยการกระตุ้นอะตอมด้วยรังสีเอ็กซ์ที่มีความยาวคลื่นเหมาะสม และเทคนิค XPS (X-Ray Photoemission spectroscopy) เป็นเทคนิคที่วิเคราะห์ธาตุและองค์ประกอบทางเคมีบริเวณพื้นผิวของวัสดุ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับวัสดุหลากหลายชนิด เช่น โลหะ แก้ว เซรามิก พลาสติก และ สารกึ่งตัวนำ เป็นต้น
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้ฝึกปฏิบัติการใช้งานโปรแกรมวิเคราะห์ผลการทดลอง เช่น โปรแกรม Athena และ โปรแกรม Artemis เป็นต้น และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ปรึกษาหารือการยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อขอใช้แสงซินโครตรอนกับนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ และได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมและการให้บริการของสถาบันฯ