นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนยกทีมประชาสัมพันธ์เชิงรุก จัดสัมมนาวิชาการ "การประยุกต์ใช้รังสีเอกซ์จากแหล่งกำเนิดแสงซินโครตรอนเพื่องานวิจัยทางเคมี วัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Synchrotron Radiation Applications: Special Session on Synchrotron-based X-ray Techniques for Chemistry, Materials Science, Earth and Environmental Science)"
ในวันที่ 4-5 มีนาคม พ.ศ. 2562 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก โดยมีทั้ง อาจารย์ และนักศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านเคมี วัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เข้าร่วมกว่า 50 คน ภายในงานอัดแน่นด้วยสาระทางวิชาการ มุ่งเน้นตอบโจทย์งานวิจัย ในสาขาวิชาที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เช่น งานวิจัยด้านวัสดุพอลิเมอร์ ตัวเร่งปฏิกิริยา วัสดุรูพรุน หิน แร่ ฟอสซิล และวัสดุนาโนคอมโพสิท (nanocomposite) โดยใช้เทคนิคทางซินโครตรอนที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนเปิดให้บริการ รวมถึงการใช้แสงซินโครตรอนเพื่อตอบโจทย์การทดลองที่ท้าทาย เช่น การทดลองแบบ in-situ หรือแนวทางการวัดที่ไม่ทำลายตัวอย่าง นอกจากนั้นยังมีการบรรยายเกี่ยวกับเนื้อหาของเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยในด้านเคมี วัสดุศาสตร์ วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ และวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม อาทิ การกระเจิงรังสีเอกซ์ การเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์ การดูดกลืนรังสีเอกซ์ การเรืองแสงรังสีเอกซ์ และการถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อการวิเคราะห์โครงสร้างวัสดุแบบ 3 มิติ เพื่อสร้างความเข้าใจในเนื้อหาของเทคนิคให้ผู้เข้าร่วมอบรม และนำไปสู่การสร้างผลงานที่มีคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการแนะนำขั้นตอนการขอใช้บริการแสงซินโครตรอน และแนวทางการพัฒนาข้อเสนอโครงการ (proposal development workshop) ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่อาจารย์ และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวรและนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสงของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจะได้แลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการ และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย และนำไปสู่การสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างทั้งสองหน่วยงานต่อไปในอนาคต
ข่าว: ดร.นันทพร กมลสุทธิไพจิตร ดร.แคทลียา โรจนวิริยะ และดร.ศิรินาฏ ศรีจันทร์
ภาพ: คุณสรินธร ทองหอม