บทความก่อนหน้านี้พาไปเยือนเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนาโนเทราสึของญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่อยู่ที่เมืองเซนได จังหวัดมิยางิ และเป็นความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคโทโฮคุ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว สึนามิ และการระเบิดของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เมื่อปี พ.ศ.2554 ครั้งนี้จะต่อที่การไปเยือนเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนสปริง-8 (SPring-8) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนในชานเมืองซะโยะ จังหวัดเฮียวโกะ ภูมิภาคคันไซ
การเดินทางครั้งนี้เป็นศึกษาดูงานเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของญี่ปุ่น 2 แห่ง นำคณะโดย ศ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และ รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ คณะอนุกรรมการ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันฯ ระหว่างวันที่ 27 - 31 มีนาคม 2566
สำหรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนสปริง-8 ประกอบด้วยเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรงระดับพลังงาน 8 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ (8 GeV SPring-8 Angstrom Compact Free Electron Laser, SACLA), วงกักเก็บอิเล็กตรอนระดับพลังงาน 8 GeV (SPring-8) และเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนิวสึบารุ (NewSUBARU) ซึ่งทางคณะได้รับการต้อนรับจาก ดร.เท็ตสึยะ อิชิกะวะ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยริเคนสปริง 8 (RIKEN SPring-8 Center, RSC) พร้อมนำเยี่ยมชมในส่วนต่างๆ ของสปริง-8
ทางด้าน ดร.ทะนะกะ ฮิโตชิ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยริเคนสปริง-8 ซึ่งรับผิดชอบด้านงานวิจัยและพัฒนาเครื่องเร่งอนุภาคเพื่อผลิตแสงซินโครตรอน ได้เล่าเพิ่มเติมว่า สปริง-8 ได้สนับสนุนองค์ความรู้ทางเทคนิค ในการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนาโนเทราสึ และปัจจุบันมีแผนงานในการยกระดับเครื่องแสงซินโครตรอนสปริง-8 เป็นเครื่องแสงซินโครตรอนสปริง-8 รุ่น 2 เนื่องจากมีการวิจัยและพัฒนาระบบต่างๆ ของเครื่องเร่งอนุภาคและวงกักเก็บอิเล็กตรอนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดแล้วผู้เชี่ยวชาญจากสปริง-8 ยังพร้อมสนับสนุนโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงสยาม 2 เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่ของไทย ที่กำลังจะสร้างขึ้นในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ซึ่งเห็นพ้องต้องกันกับ ดร.หวังเจ้าเอิ๋น และ ดร.หลัวกั๋ว เฮว้ย จากศูนย์วิจัยแสงซินโครตรอนแห่งไต้หวัน (National Synchrotron Radiation Research Center, NSRRC) ที่ร่วมเดินทางไปดูงานพร้อมคณะชาวไทย และต้องการสนับสนุนโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนของไทยเช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีซินโครตรอนจากญี่ปุ่นและไต้หวัน เสนอให้การสนับสนุนทางเทคนิคเพื่อพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ (3 GeV) ของไทย โดยจะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรงและเครื่องเร่งอนุภาคแนววงกลมที่ศูนย์วิจัยแสงซินโครตรอนแห่งไต้หวัน มีความเชี่ยวชาญ ด้านวงกักเก็บอิเล็กตรอนระดับพลังงานสูงและระบบลำเลียงแสง รวมถึงการออกแบบอาคารก่อสร้างให้มีความปลอดภัยและมีเสถียรภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ของวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ตลอดจนโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์จริง
นอกจากนี้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ยังได้รับอนุญาตให้ส่งบุคลากร ไปร่วมการทดสอบระบบของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนนาโนเทราสึซึ่งมีสถาบันวิจัยริเคนเป็นที่ปรึกษา และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) จะร่วมสนับสนุนความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลญี่ปุ่นในลักษณะเงินกู้ เพื่อสนับสนุนโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ของไทยด้วยเช่นกัน
การเดินทางครั้งนี้ไม่เพียงแค่ได้เห็นความก้าวหน้าและการพัฒนาไม่หยุดของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนพลังงานสูงในญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญของญี่ปุ่นและไต้หวันในการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่จะสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป
บทความโดย ดร.วสุพล รุ่งธนาภิรมย์
นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง ฝ่ายบริหารจัดการโครงการเครื่องกำเนิดแสงสยาม 2
เรียบเรียงโดย ส่วนสื่อสารองค์กร