ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราพาทุกคนไปไขคำตอบกับงานวิจัยมากมาย จากชนวนความสงสัยสู่การทดลองที่ส่องลึกไปในระดับอะตอมด้วยแสงซินโครตรอนกันมาแล้ว วันนี้เราจึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน” ซึ่งอยู่เบื้องหลังงานวิจัยเหล่านี้กันให้มากยิ่งขึ้น ว่าที่นี่กำลังทำอะไร และมีความสำคัญอย่างไร ถึงถูกขนานนามได้ว่าเป็นที่หนึ่งและเป็นศูนย์กลางในอาเซียนด้านแสงซินโครตรอน มากว่า 20 ปี
.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2539 คณะรัฐมนตรีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้มีการอนุมัติโครงการแสงสยาม และการก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติขึ้น ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อทำการค้นคว้าวิจัยด้านแสงซินโครตรอนภายในประเทศ จนในปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนชื่อและยกระดับเป็น “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)” ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. โดยมีหน้าที่และบทบาทที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น
.
1. วิจัยและพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนในด้านต่างๆ
2. ให้บริการแสงซินโครตรอน และเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอนกับทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา
3. ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรให้มีความเข้าใจเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน
.
ซึ่งพันธกิจนี้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง เครื่องกำเนิดแสงซินโคตรอนที่มีชื่อว่า “เครื่องกำเนิดแสงสยาม” ที่นับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยขนาดพลังงาน 1.2 GeV มาพร้อมกับ 12 ระบบลำเลียงแสง 13 สถานีทดลอง ทำให้ครอบคลุมการทดลองในหลายเทคนิค ได้แก่ เทคนิคการกระเจิงและการเลี้ยวเบนรังสี เทคนิคการดูดกลืนรังสี เทคนิคการปลดปล่อยอิเล็กตรอน เทคนิคการเรืองรังสี และเทคนิคการอาบรังสี
.
ไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะทางสถาบันยังให้บริการด้านอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นบริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์พื้นฐาน บริการเทคนิคและวิศวกรรม บริการการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีไปจนถึงบริการแบบ Total Solution Service เพียงคุณก้าวเข้ามาก็สามารถช่วยแก้ปัญหาในกระบวนการผลิตหรือช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้นจนพร้อมออกสู่ตลาดได้
.
และในอนาคต ทางสถาบันกำลังเดินหน้าสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ “เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV” ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 6,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว นับเป็นก้าวสำคัญของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ที่จะเข้ามาพัฒนาวงการอุตสาหกรรมไทยให้สามารถรองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
.
ทำความรู้จักสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เพิ่มเติม > https://www.slri.or.th/
.
#ซินโครตรอน #สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน