เครองกำเนดแสงซนโครตรอนแหงสนตภาพแ

          เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนคือเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่สำหรับให้นักวิทยาศาสตร์ใช้ศึกษาวิจัยในแขนงวิชาต่างๆ แต่มีอยู่เครื่องหนึ่งที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในบริบทอื่นนอกเหนือจากการวิจัย นั่นคือการสร้างสันติภาพและความร่วมมือกันระหว่างประเทศในภูมิภาคผ่านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เครื่องที่ว่านั้นคือเครื่องกำเนิดแสง SESAME (Synchrotron-light for Experimental Science and Applications in the Middle East) ตั้งอยู่ ณ ประเทศจอร์แดน ในตะวันออกกลาง

          SESAME ใช้ระบบบริหารงานในลักษณะเดียวกับ CERN (European Organization for Nuclear Research) ผ่านระบบสภาของประเทศสมาชิก โดยประเทศสมาชิกปัจจุบันประกอบด้วย ไซปรัส อียิปต์ อิหร่าน อิสราเอล จอร์แดน ปากีสถาน ปาเลสไตน์ และตุรกี และมีสมาชิกสังเกตุการณ์อีก 16 ประเทศกับ 2 องค์การ เป็นที่ปรึกษา และให้ข้อเสนอแนะด้านต่างๆ นับเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่สร้างสันติภาพด้วยวิทยาศาสตร์ตามที่ยูเนสโก้ให้นิยามไว้ จากการร่วมมือกันของประเทศในตะวันออกกลางและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

          SESAME เป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นที่ 3 ที่มีขนาดพลังงานอิเล็กตรอน 2.5 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ในวงกักเก็บอิเล็กตรอนขนาดเส้นรอบวง 133 เมตร ถือกำเนิดโครงการในปี พ.ศ. 2540 สร้างเสร็จและเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2560 และนอกจากจะเป็นเครื่องแรกในตะวันออกกลางแล้ว ในปี พ.ศ. 2562 SESAME ยังเป็นเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่เครื่องแรกของโลกที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทนจากโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 6.48 เมกะวัตต์ที่อยู่ห่างออกไปราว 30 กิโลเมตร

          สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนขนาดพลังงานอิเล็กตรอน 1.2 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ในวงกักเก็บอิเล็กตรอนขนาดเส้นรอบวง 81 เมตร เปิดให้บริการแก่นักวิจัย ตั้งอยู่ ณ จ.นครราชสีมา และในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นที่ 3 ที่มีขนาดพลังงานอิเล็กตรอน 3 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ มีแผนที่จะสร้างที่ จ.ระยอง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทความโดย ดร.นาวิน จันทร์ทอง นักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาค

อ้างอิง 
1. https://www.sesame.org.jo/about-us/what-is-sesame

2. http://sps-ii.slri.or.th/