นับตั้งแต่ปฏิบัติการพัฒนาจีนใหม่ ที่จีนเริ่มเปิดประเทศในช่วงปี ค.ศ. 1978 จีนดำเนินการปฏิรูปประเทศ โดยเริ่มจากการแก้ปัญหาความยากจนล้าหลังและยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรไปสู่การอยู่ดีกินดี จนสามารถก้าวสู่การเป็นประเทศทันสมัยและเป็นผู้นำของโลก ตามหลังพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกามาติดๆ ซึ่งเบื้องหลังการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดนี้ จีนได้ทุ่มงบประมาณในการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานวิจัยทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ในปี ค.ศ. 1983-1989 จีนได้สร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน รุ่นที่ 1 ขึ้นใช้งาน โดยดัดแปลงจากเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ มีชื่อว่า Beijing Synchrotron Radiation Facility (BSRF) ในขณะเดียวกันจีนได้สร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นที่ 2 Hefei Light Source ตามด้วยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นที่ 3 ที่ก้าวหน้าในระดับแนวหน้าของโลกในยุคนั้น ได้แก่ Shanghai Synchrotron Radiation Facility (SSRF) โดยก่อสร้างช่วงปลายปี 2004 แล้วเสร็จในปี 2010 ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 5 ปีเศษเท่านั้น
ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 2015 รัฐบาลจีนได้ประกาศยุทธศาสตร์ Made in China 2025 โดยจีนต้องการครอบครองเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 10 สาขาเป้าหมาย ครอบคลุมทั้ง ด้านไอที หุ่นยนต์ อวกาศ ยานยนต์ พลังงาน การเกษตร ไปจนถึงด้านการแพทย์ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากการเป็น “โรงงานของโลก” ไปสู่ “แหล่งผลิตสินค้านวัตกรรมของโลก”
เพื่อการนั้น จีนจึงทุ่มงบประมาณ 4.8 พันล้านหยวน หรือประมาณ 23,000 ล้านบาท สร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นที่ 4 High Energy Proton Source หรือ HEPS เพื่อเป็นบันไดไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามเป้าหมายดังกล่าว โดยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่นี้ มีระดับพลังงานสูงถึง 6 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ มีเส้นรอบวงประมาณ 1.4 กิโลเมตร สามารถรองรับสถานีทดลองได้สูงสุดกว่า 90 สถานี
“เครื่องนี้จะสร้างแสงซินโครตรอนที่สว่างที่สุดในโลก เหนือไปกว่า เครื่อง MAX-IV ของสวีเดน ที่นับเป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก” Luo Xiaoan รองผู้อำนวยการ สถาบัน Institute of High Energy Physics กล่าว
ปัจจุบัน HEPS เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว โดยในส่วนของเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนได้ติดตั้งอุปกรณ์สำคัญสำหรับเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรงแล้ว และมีกำหนดก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดให้บริการได้ในปี ค.ศ. 2025 ตรงกับหมุดแรกของยุทธศาสตร์ Made in China 2025 พอดี
สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนขนาดพลังงานอิเล็กตรอน 1.2 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ เปิดให้บริการแก่นักวิจัย ตั้งอยู่ ณ จ.นครราชสีมา และในอนาคตอันใกล้นี้ไทยจะมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นที่ 4 ที่มีขนาดพลังงานอิเล็กตรอน 3 พันล้านอิเล็กตรอนโวลต์ มีแผนที่จะสร้างที่ จ.ระยอง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บทความโดย
ดร.ธนะพงษ์ พิมพ์เสน นักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาค
อ้างอิง:
https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/article/KSMEAnalysis/Documents/Chinese-Revolution-2025-Innovation.pdf
https://www.globaltimes.cn/content/1030270.shtml
http://www.xinhuanet.com/english/2019-02/01/c_137792091.htm
https://physicsworld.com/a/chinas-next-big-thing-a-new-fourth-generation-synchrotron-facility-in-beijing/
http://e-ssrf.sari.ac.cn/
https://en.nsrl.ustc.edu.cn/main.htm
http://www.chinadaily.com.cn/a/201902/01/WS5c53990ca3106c65c34e7ac8.html