โครงการจัดส่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปศึกษาดูงานที่เซิร์น
High School Visit Programme
ในคราวเดินทางมายังประเทศไทยของ Prof. Emmanuel Tsesmelis เพื่อเข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และกลุ่มการทดลอง ALICE เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2555 Prof. Emmanuel Tsesmelis ได้กราบบังคมทูลต่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสนอให้จัดส่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของประเทศไทยไปศึกษาดูงานที่เซิร์น เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้รับประสบการณ์จากนักวิทยาศาสตร์และเครื่องมือทดลองขนาดใหญ่ระดับโลก รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในการศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง
ในปี พ.ศ. 2556 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งให้ดำเนินการคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพ เพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานที่เซิร์น จำนวน 10 คน โดยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ รับดำเนินงานสนองพระราชดำริข้างต้น ในการคัดเลือกนักเรียนที่มีความเหมาะสมเพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานที่เซิร์น ในช่วงระหว่างวันที่ 5-11 มิถุนายน 2556
และในปีต่อ ๆ มาเพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คณะอนุกรรมการด้านวิชาการและวิจัยกับเซิร์นและเดซี ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จึงได้ให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการจัดส่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปศึกษาดูงานที่เซิร์น โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจากหลากหลายกลุ่มโรงเรียนมากยิ่งขึ้น โดยได้คัดเลือกนักเรียน จำนวน 12 คน และครูผู้ควบคุมนักเรียน จำนวน 2 คน ที่มีความเหมาะสมเดินทางไปศึกษาดูงานที่เซิร์น
วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในการศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง
- เพื่อสร้างโอกาสให้นักเรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนนานาชาติ และได้รับประสบการณ์โดยตรงด้านการวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ในศูนย์วิจัยระดับโลก เพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองต่อไป
กลุ่มเป้าหมาย
นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 12 คน
ระยะเวลาการเข้าร่วมกิจกรรม
ต้นเดือนมิถุนายนของทุกปี (ระยะเวลา 7 วัน รวมวันเดินทาง)
หน่วยงาน/กลุ่มโรงเรียน/โรงเรียน ที่เข้าร่วมกิจกรรม
- สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
- โครงการ พสวท./โครงการโอลิมปิค / โครงการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ ระดับนานาชาติ (โควตาส่งรายชื่อนักเรียน 6 คน ครู 2 คน)
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) (โควตาส่งรายชื่อนักเรียน 6 คน ครู 2 คน)
- โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ / กลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย/โครงการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ ระดับประเทศ
- โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วมว.)
- (โควตาส่งรายชื่อนักเรียน 6 คน ครู 2 คน)
- โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (โควตาส่งรายชื่อนักเรียน 4 คน ครู 1 คน)
- โครงการ JSTP (Junior Science Talent Project) (โควตาส่งรายชื่อนักเรียน 3 คน)
- ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- โรงเรียนจิตรลดา (โควตาส่งรายชื่อนักเรียน 2 คน ครู 1 คน)
- สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (โควตาส่งรายชื่อนักเรียน 3 คน)
- โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (โควตาส่งรายชื่อนักเรียน 2 คน ครู 1 คน)
คุณสมบัติผู้สมัคร
(นักเรียน จำนวน 12 คน)
- เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายวิทยาศาสตร์)
- มีผลการเรียนดังนี้
- ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมรวมทุกวิชา ไม่ต่ำกว่า 3.50
- ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมรายวิชาฟิสิกส์ ไม่ต่ำกว่า 3.50
- มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดีมาก (สามารถสื่อสารในการพูด ฟัง อ่าน เขียน ได้เป็นอย่างดี)
- ไม่เป็นโรคติดต่อหรือโรคร้ายแรงซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง
- มีความขยันหมั่นเพียร มีความประพฤติดี และมีบุคลิกภาพเหมาะสม
- สามารถเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดช่วงระยะเวลาการเข้าร่วมกิจกรรม
(ครูผู้ควบคุมนักเรียน จำนวน 2 คน)
- เป็นครูที่สอนวิชาฟิสิกส์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเนื้อหาวิชาเกี่ยวกับไฟฟ้า/แม่เหล็ก และฟิสิกส์อะตอม หรือฟิสิกส์นิวเคลียร์ (มีความรู้ทางด้านฟิสิกส์อนุภาค จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ)
- มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดีมาก (สามารถสื่อสารในการพูด ฟัง อ่าน เขียน ได้เป็นอย่างดี)
- มีประสบการณ์ในการดำเนินกิจกรรม/โครงการ ที่ต้องควบคุม ดูแลนักเรียนเป็นหมู่คณะ
- ควรมีประสบการณ์ในการเดินทางไปต่างประเทศ
- ไม่เป็นโรคติดต่อหรือโรคร้ายแรงซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง
- สามารถเดินทางร่วมกับคณะนักเรียน เพื่อควบคุม ดูแลคณะนักเรียนตลอดช่วงระยะเวลาการเข้าร่วมกิจกรรม