• thaicern_banner

โครงการ National e-Science Infrastructure Consortium

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเซิร์นครั้งที่ 3 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทอดพระเนตรโครงการ WLCG : Worldwide LHC Computing Grid ของเซิร์น และมีพระราชดำริว่า ประเทศไทยควรจะจัดทำโครงการคำนวณลักษณะกริดด้วย เพื่อประยุกต์ใช้งานภายในประเทศและขณะเดียวกันก็สามารถเชื่อมโยงกับ WLCG ได้ด้วย

จึงได้มีการได้ดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 5 หน่วยงาน เพื่อร่วมดำเนินการจัดทำโครงการ National e-Science Infrastructure Consortium เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 ประกอบด้วย

(1) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

(2) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

(4) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ

(5) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน)

U eScience 174

ในการร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคำนวณสมรรถนะสูง ได้แก่ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบจัดเก็บข้อมูล เครือข่ายคอมพิวเตอร์และฐานข้อมูล เพื่อรองรับการวิจัยด้าน e-Science ในสาขาฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูง และในสาขาอื่นๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การบริหารทรัพยากรน้ำ, พลังงานและสิ่งแวดล้อม,  Big Data, จักรวาลวิทยา ฟิสิกส์ดาราศาสตร์, วิจัยผลกระทบของอวกาศที่มีต่อโลก เป็นต้น

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ได้มีการลงนามบันทึกความความร่วมมือ (MOU) ระหว่างเซิร์นในฐานะ “ห้องปฏิบัติการเจ้าภาพ” (Host Laboratory) ในการดำเนินงานของ Worldwide LHC Computing Grid (WLCG) กับ สวทช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในนามของภาคีโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติด้าน e-Science (National e-Science Infrastructure Consortium)

โครงการนี้เสนอที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณขึ้น อันได้แก่ ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลสมรรถนะสูง ระบบจัดเก็บข้อมูล และพัฒนาเครือข่าย ซึ่งนอกจากจะรองรับความต้องการด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงดังกล่าวข้างต้นแล้ว เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรดังกล่าวยังจะต้องรองรับงานวิจัยสาขาอื่นๆ ในประเทศอีก 3 สาขาคือ

  1. กลุ่มวิจัยสาขาฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูง
  2. กลุ่มวิจัยสาขาวิทยาการและวิศวกรรมเชิงคำนวณ (Computational Science and Engineering Consortium)
    • กลุ่มวิจัยสาขาวิทยาการและวิศวกรรมเชิงคำนวณ (Computational Science and Engineering Consortium)
    • กลุ่มวิจัยสาขาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Consortium)
    • กลุ่มวิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พลังงาน และ สิ่งแวดล้อม (Water Resource, Energy and Environment Management Consortium)
  3. กลุ่มวิจัยสาขาวิทยาการและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer Science and Engineering Consortium)

ปัจจุบันการดำเนินงานเป็นลักษณะภาคีความร่วมมือของสมาชิกสามัญ 9 หน่วยงาน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)  และสมาชิกสมทบ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีคณะกรรมการอำนวยการซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยงานสมาชิกสามัญและผู้เชี่ยวชาญ กำกับนโยบายการดำเนินงาน มีคณะทำงานด้านทรัพยากร คณะทำงานด้านเครื่องมือ คณะทำงานด้านบริหารการใช้งาน และคณะทำงานด้านเครือข่าย ทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ แบ่งหน้าที่กันทำงาน โดยมี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รับหน้าที่เป็นสำนักงานภาคี

หน่วยงานสมาชิกจะจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้บริการแก่กลุ่มวิจัยต่าง ๆ ตามลักษณะของงานวิจัยและเครื่องมือ/ซอฟท์แวร์ที่ใช้งาน โดยปัจจุบันทรัพยากรรวมของภาคีประกอบด้วย หน่วยประมวลผล 5,060 แกนประมวลผล ระบบจัดเก็บข้อมูล 1,255 เทอราไบต์ โดยทรัพยากรส่วนหนึ่งเปิดเป็นระบบ Open service รองรับงานวิจัยในประเทศ ซึ่งนักวิจัยสามารถสมัครเข้าใช้งานได้ผ่านสำนักงานภาคี ผลการใช้งานตั้งแต่ปี 2554 – ปัจจุบัน มีโครงการวิจัยที่เข้าใช้ทรัพยากรภาคี 246 โครงการ ผู้ใช้งานรวม 251 คน แบ่งเป็นนักวิจัย/อาจารย์ 64 คน และนักศึกษา 187 คน มีการใช้งานระบบ (Utilization) เฉลี่ยร้อยละ 86 และผู้ใช้งานส่งผลงานตีพิมพ์ 287 ผลงาน

          นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณแล้ว หน่วยงานสมาชิกยังร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาประชาคมผู้ใช้งานและผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการรวมกลุ่มจัดกิจกรรมอบรมและสัมมนาอย่างต่อเนื่อง

ดูข้อมูลโครงการเพิ่มเติมได้ที่

http://www.e-science.in.th/infra/
http://www.facebook.com/eScienceConsoritum

Go to top