Annual Report 2019

การพัฒนาและการดำเนินงาน

การดำเนินงาน
ด้านความปลอดภัย

2. งานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

2.1 การตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง

ในปี พ.ศ. 2562 ได้จัดจ้างให้โรงพยาบาลราชสีมา ฮอสพิทอล จังหวัดนครราชสีมา เข้ามาดำเนินการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงของบุคลากรในสถาบันฯ ทั้งปัจจัยเสี่ยงด้านกายภาพและด้านเคมีโดยมีรายการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงดังนี้

1. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC: complete blood count)

2. ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Function Test)

3. ตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry)

4. ตรวจหาระดับตะกั่วในเลือด  (Blood Lead Level)

5. ตรวจนิกเกิลในเลือด (Nickel in Blood)

6. ตรวจไซยาไนด์ในเลือด (Cyanide in Blood)

7. ตรวจระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดแบบเรื้อรัง (Cholinesterase)

ซึ่งผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงในครั้งนี้จำนวนทั้งสิ้น 186 คน แบ่งออกเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันฯ จำนวน 132 คน เจ้าหน้าที่จ้างเหมาปฏิบัติงานจำนวน 13 คน และลูกจ้างโครงการจำนวน 16 คนลูกจ้างเหมาปฏิบัติงาน (Outsource) จำนวน 25 คนผลของการตรวจตามรายการตรวจสุขภาพข้างต้นโดยทั่วไป อยู่ในเกณฑ์ปกติแต่ยังพบว่ามีผลการตรวจสุขภาพที่ผิดปกติบางรายคือ

ก. ผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดผิดปกติและการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติจำนวน 24 และ 2 คนตามลำดับ ซึ่งผลดังกล่าวสัมพันธ์กับการได้รับรังสีส่วนความปลอดภัยได้ตรวจสอบข้อมูลการได้รับปริมาณรังสีสะสมต่อปี พบว่าไม่มีผู้ใดได้รับปริมาณรังสีสะสมเกิน 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี (อ้างอิงจากพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559)ดังนั้นการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงในรายที่ผิดปกติดังกล่าวนั้นอาจจะมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ได้เกิดจากการสภาพแวดล้อมในการทำงานแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามได้แนะนำให้ผู้ที่มีผลการตรวจในรายการที่ผิดปกติไปตรวจเพื่อยืนยันผลซ้ำอีกครั้ง ทั้งนี้หากผลการตรวจยืนยันความผิดปกติเช่นเดิมก็จะได้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาต่อไป

ข. ผลตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (Audiometry)ผิดปกติจำนวน 1 คนส่วนความปลอดภัยได้ตรวจสอบข้อมูลจากผลการตรวจวัดระดับความดังเสียงในที่ทำงานประจำปี 2562 ไม่พบจุดตรวจวัดที่มีค่าระดับความดังเสียงที่เกินกว่า 85 เดซิเบลเอ (อ้างอิงจากพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554) ดังนั้นการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงในรายที่ผิดปกตินั้นน่าจะมาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ได้เกิดจากการสภาพแวดล้อมในการทำงานแต่อย่างใดซึ่งได้แนะนำให้ไปตรวจเพื่อยืนยันผลซ้ำอีกครั้ง ทั้งนี้หากผลการตรวจยืนยันความผิดปกติเช่นเดิมก็จะได้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาต่อไป

2.2 การตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน

การตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงานประกอบด้วยการตรวจวัดเสียง ความร้อน ฝุ่น ฟูม และความเข้มข้นของสารเคมีในอากาศ ภายในห้องปฏิบัติการต่างๆ ของสถาบันฯ เพื่อเป็นการดูแลสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานตามกฎกระทรวงแรงงานเรื่อง“กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้าน ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559” ในปี พ.ศ. 2562 สถาบันฯ ได้จัดจ้างให้บริษัท แอคคิวฟาส แล็บ เซ็นเตอร์ จำกัด เข้ามาดำเนินการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงานด้านเสียง ความร้อน และคุณภาพอากาศในพื้นที่ทำงาน เมื่อวันที่ 7-8 ตุลาคม พ.ศ. 2562 โดยผลการตรวจทุกจุดตรวจวัดมีค่าผ่านเกณฑ์ตามที่มาตรฐานกำหนดทั้งหมด

แสดงการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำปี พ.ศ. 2562

2.3 การประเมินความปลอดภัยของโครงการผู้ใช้แสงซินโครตรอน

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้จัดระดับความอันตรายของสารเคมีและสารชีวภาพเป็นรหัสแถบสี โดยจัดระดับความอันตรายของสารเคมีตามระบบ NFPA (The National Fire Protection Association) และ HMIS (Hazardous Materials Identification System) ของสหรัฐอเมริกา และจัดระดับความอันตรายของสารชีวภาพตามความเสี่ยงของเชื้อจุลินทรีย์ในการก่อโรค ตามหลักขององค์การอนามัยโลกปี ค.ศ. 2004 และตามประกาศของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องข้อปฏิบัติในการดูแลเชื้อโรคตามระดับความเสี่ยงฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2550 เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการนำสารเคมีและสารชีวภาพเข้ามาใช้ในสถาบันฯ

 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สถาบันฯ โดยส่วนความปลอดภัยได้ดำเนินการประเมินความปลอดภัยโครงการของผู้ใช้บริการแสงซินโครตรอนทั้งหมด 566 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีความเป็นอันตรายระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 60.07 รองลงมาเป็นโครงการที่มีความเป็นอันตรายระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 38.87 และโครงที่มีความเป็นอันตรายระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 1.06 ซึ่งโครงการดังกล่าวสามารถทำการทดลอง ณ ห้องปฏิบัติการแสงสยามได้ดังนี้

ตารางประเมินความปลอดภัยโครงการของผู้ใช้บริการแสงซินโครตรอน ปี 2562

2.4 การฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ปฏิบัติงานถึงแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและสอดคล้องตามกฎกระทรวงแรงงาน เรื่องกำหนด มาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับ การป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 โดยระบุให้ “นายจ้างจัดให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนลูกจ้างในแต่ละหน่วยงานรับการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้นและจัดให้มีการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟพร้อมกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง” ในปี พ.ศ. 2562 สถาบันฯ จึงได้ดำเนินการฝึกอบรมดับเพลิงขั้นต้นและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟประจำปีขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 โดยได้จำลองสถานการณ์เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณระบบลำเลียงแสงที่ 5.1 ชั้น 1 และมีผู้ได้รับบาดเจ็บติดอยู่ภายในอาคาร ห้องปฏิบัติการแสงสยาม โดยได้รับความอนุเคราะห์ทีมงานการฝึกอบรมจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลนครนครราชสีมาจังหวัดนครราชสีมาในการนี้มีเจ้าหน้าที่เริ่มปฏิบัติงานใหม่ในปี 2561 - 2562 เข้ารับการอบรมหลักสูตรการดับเพลิงขั้นต้น จำนวน 16 คน แบ่งเป็น ชาย 3 คน และหญิง 13 คน และได้มีประชาคมสถาบันฯ ทั้งสิ้น 268 คน แบ่งเป็นชาย 136 คน และหญิง 132 คนเข้าร่วมฝึกซ้อมอพยพหนีไฟในครั้งนี้ด้วย

การฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น และฝึกซ้อมอพยพหนีไฟประจำ ปี พ.ศ. 2562

2.5 การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทางเคมีและชีวภาพ

 สถาบันฯ ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมหลักสูตรความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีและชีวภาพ  ในระหว่างวันที่ 24 – 25 กันยายน 2562 ณ ห้องประชุม B407 โดยได้เชิญวิทยากรจาก สำนักพัฒนาศักยภาพนักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีด้วยความปลอดภัย โดยมีบุคลากรเข้าร่วมฝึกอบรมทั้งหมด30 คน

การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยทางเคมีและชีวภาพ ประจำปี พ.ศ. 2562

2.6 การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยของการใช้ปั้นจั่น

 สถาบันฯ ได้ดำเนินการจัดการอบรมหลักสูตร “ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ให้สัญญาณแก่ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ยึดเกาะวัสดุ และ ผู้ควบคุมการใช้ปั้นจั่น ชนิดปั้นจั่นเหนือศีรษะ” ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุม B407 โดยวิทยากรจากบริษัท นาโน ไฟร์ แอนด์ เซฟตี้ เอ็นจิเนียริ่ง ให้กับบุคลากรของสถาบันฯ ซึ่งเกี่ยวข้องและใช้งานปั่นจั่น เพื่อเป็นการให้ความรู้ตามกฎกระทรวง กําหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2552 โดยมีบุคลากรเข้าร่วมฝึกอบรมทั้งหมด 37 คน

การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยของการใช้ปั้นจั่น ประจำปี พ.ศ. 2562

2.7 การฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

 สถาบันฯ ได้ดำเนินการจัดการอบรมหลักสูตร “การปฐมพยาบาลเบื้องต้น” ในวันอังคารที่ 10 กันยายน 2562 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม B407 โดยวิทยากรจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ราชสีมา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการปฐมพยาบาล สามารถประเมินอาการเบื้องต้นของผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุได้ และสามารถทำการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บได้ รวมถึงสามารถขอความช่วยเหลือจากระบบบริการฉุกเฉินได้ โดยมีบุคลากรเข้าร่วมฝึกอบรมทั้งหมด 35 คน

การฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ประจำปี พ.ศ. 2562

2.8 การขอหนังสือรับรองการแจ้งผลิตเชื้อโรคและพิษจากสัตว์

 สถาบันฯ ได้ดำเนินการขอหนังสือรับรองการแจ้งผลิตเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ตามพระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้รับหนังสือรับรองการแจ้งผลิตเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ ที่ 2562-11-0048 มีรายชื่อเชื้อโรคที่จดแจ้ง จำนวน 7 รายการ ดังนี้ Bacillus cereus, Enterococcus faecalis, Escherichia coli, Klebsiella pneumonia, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus aureus และ Streptococcus pyogenes

หนังสือรับรองการแจ้งผลิตเชื้อโรคและพิษจากสัตว์

2.9 การจัดการของเสียเคมี

สถาบันฯ ได้ดำเนินการเตรียมห้องสำหรับเก็บของเสียเคมีและขยะปนเปื้อนสารเคมีที่เกิดขึ้นจากห้องปฏิบัติการต่างๆ ของสถาบันฯ ไว้บริเวณโรงเก็บก๊าซข้างอาคารระบบความเย็นยิ่งยวด (Cryogenic Utility) เพื่อรวบรวมของเสียเคมีที่จะกำจัดทิ้งโดยหน่วยงานภายนอก ซึ่งได้เตรียมถังขยะปนเปื้อนสารเคมี ถังขยะเครื่องแก้วแตก/ของมีคม ถังขยะอันตรายประเภทหลอดไฟใช้แล้ว และถังขยะอันตรายประเภทแบตเตอรี่ ไว้บริเวณนอกอาคารสุรพัฒน์ 3 ด้านหลังห้องปฏิบัติการ Micromachining และในโถงทดลองบริเวณหน้าห้องเตรียมสารตัวอย่าง

ในปี พ.ศ. 2562 สถาบันฯ ได้รวบรวมของเสียเคมีและขยะปนเปื้อนสารเคมีที่เกิดขึ้นจากห้องปฏิบัติการต่างๆ รวมทั้งสิ้นโดยประมาณ 2,574 กิโลกรัม แบ่งตามของเสียเคมีในรูปของแข็ง ของเหลวต่างๆ ได้แก่ ของเสียประเภทกรดและด่าง (Acid-Base) จำนวน 29.4 กิโลกรัม, ของเสียประเภทตัวทำละลาย (Mixed solvent) จำนวน 262 กิโลกรัม, ของเสียประเภทเป็นพิษสูง (High toxic) จำนวน 74.6 กิโลกรัม, ของเสียประเภทโลหะหนัก (Heavy Metal) จำนวน 71 กิโลกรัม, ของเสียประเภทของแข็งเคมี (Solid chemical) และภาชนะขยะปนเปื้อนเคมี จำนวน 1,186.1 กิโลกรัม และของเสียเคมีประเภทระบุไม่ได้ (Unknown) จำนวน 236.1  กิโลกรัม และได้จัดจ้างให้บริษัทรีไซเคิลเอ็นจิเนียริ่งจำกัด ซึ่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ขึ้นทะเบียนโรงงานในลําดับประเภท 101 105 และ 106 ตาม บัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่จําแนกตามกฎกระทรวง ออกตามความใน พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เข้ามารับไปดำเนินการขนส่งและกำจัดของเสียเคมีอย่างถูกวิธี เพื่อให้สอดคล้องกับ “พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535” และ“ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม  เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548” และเพื่อป้องกันผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2562

Copyright © 2019 Synchrotron light research institute. All rights reserved.

การดำเนินงาน
ด้านความปลอดภัย