Annual Report 2019

การพัฒนาฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชรสำหรับบรรจุภัณฑ์ด้านอาหาร

ดร.ศรายุทธ ตั้นมี, ดร.ชนรรค์ เอื้อรักสกุล, ดร.นันทพร กมลสุทธิไพจิต, ดร.แคทลียา โรจน์วิริยะ และนายอุกฤษฏ์ ฤทธิหงส์

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)

ดร.นุกุล เอื้อพันธเศรษฐ และทีมนักวิจัยฯ

บริษัท เบทาโกร จำกัด(มหาชน)

ดร.ธนานันท์ อรรคเดชดำรง และทีมนักวิจัย

บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด

สถาบันฯ ทำการวิจัยร่วมกับบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ถือเป็นการบูรณาการงานวิจัยและพัฒนาระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมกัน ในการสังเคราะห์ฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชร (Diamond-Like carbon: DLC) บนวัสดุพอลิเมอร์จะต้องเลือกวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้ได้ฟิล์มที่มีคุณสมบัติที่ดีและสามารถนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งวิธีการสังเคราะห์ฟิล์มชนิดนี้ที่ได้รับความนิยมคือ “วิธีเพิ่มการตกสะสมด้วยพลาสมาจากไอระเหยทางเคมีในย่านความถี่วิทยุ” เป็นวิธีการที่ถูกเลือกในงานวิจัยครั้งนี้ ฟิล์ม DLC ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนแม่พิมพ์โลหะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหาร การใช้งานที่หลากหลายของฟิล์มชนิดนี้แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมของฟิล์ม การได้มาซึ่งคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมของฟิล์มนั้นขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น วิธีการสังเคราะห์ ส่วนผสมสารตั้งต้น อุณหภูมิ เวลาในการสังเคราะห์ ฯลฯ นอกจากนี้โครงสร้างทางเคมีของฟิล์ม DLC มีความซับซ้อนจึงมีความจำเป็นต้องอาศัยเทคนิคการวิเคราะห์ขั้นสูง อย่างเทคนิคแสงซินโครตรอน ได้แก่“เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ย่านพลังงานต่ำ (Near edge X-ray absorption fine structure: NEXAFS)” โดยเทคนิคนี้สามารถวิเคราะห์คุณสมบัติของฟิล์มในเชิงคุณภาพ (Qualitative analysis) และเชิงปริมาณ (Quantitative analysis) ได้ อีกทั้ง ฟิล์ม DLC มีคุณสมบัติในการต้านการซึมผ่านของแก๊สบางชนิด จึงถูกนำไปประยุกต์ใช้จริงในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของอาหาร

Copyright © 2019 Synchrotron light research institute. All rights reserved.